Mon. May 6th, 2024

หนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด เมื่อเป็นคดีความแล้ว เราต้องรู้ก่อนว่าเป็นคดีอะไร เพราะลูกหนี้บางคนโดนเจ้าหนี้ขู่เข้าไป ก็คิดว่าจะต้องไปติดคุกแน่ ๆ แต่จริง ๆ ไม่ใช่เลย

และบางคนก็สงสัยว่า หลังจากที่ศาลตัดสินไปแล้ว 10 ปี แต่ทำไมเจ้าหนี้จะมาตามยึดทรัพย์ได้อีก แบบนี้ทำได้หรือไม่? ในบทความนี้มีคำตอบ … ไปอ่านกันเลย

หนี้บัตรเครดิต-บัตรกดเงินสด เป็นคดีแพ่ง (ไม่ติดคุก)

คดีหนี้บัตรเครดิตหรือเงินกู้ต่าง ๆ รู้กันไว้ตรงนี้เลยว่าเป็น “คดีแพ่ง ไม่ติดคุก” และหากเราได้รับหมายบังคับคดี ไม่ว่าจะเป็นการอายัดเงินเดือน หรือตามยึดทรัพย์  ก็หมายความว่า เราได้ถูกศาลตัดสินเป็นที่เรียบร้อยมาระยะหนึ่งแล้ว

ในส่วนนี้ จะมีทั้งผู้ที่ไปต่อสู้ในศาลแล้วแพ้คดี ผู้ที่ไม่รู้เรื่องหมายศาล เพราะอาจจะย้ายที่อยู่ หรือผู้ที่รู้หมดทุกอย่าง แต่ก็ทำเป็นไม่สนใจ ซึ่งข้อหลังนี้ค่อนข้างเสี่ยง เพราะอาจถูกยึดทรัพย์แบบไม่ทันได้ตั้งตัวเลยก็ได้ สมมติพ่อแม่โอนมอบมรดกมาให้ แล้วเจ้าหนี้ตามสืบจนรู้ มรดกนั้นก็จะต้องถูกยึดไปตามกฎหมาย

หลัง 10 ปีไปแล้ว ทำไมเจ้าหนี้ยังตามยึดทรัพย์ได้?

ส่วนที่มักจะเข้าใจผิดกันก็คือ การถูกบังคับดีจะมีอายุความ 10 ปี พอหลังจาก 10 ปีไปแล้ว กลับมีเจ้าหน้าที่เข้ามายึดทรัพย์ จึงทำให้มีคำถามว่า “ยึดทรัพย์ได้หรือไม่?” หรือ “หมดอายุความ 10 ปีแล้วไม่ใช่รึ?” ทำไมยังมาตามยึดทรัพย์ได้อีก

เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ โดยจะไม่ใช้คำว่า อายุความ แต่อยากให้เข้าใจในคำว่า “ระยะเวลา” แทน ระยะเวลาในการบังคับคดีคือ 10 ปี แต่ทำไมจึงไม่ทำให้หมดสิทธิในการยึดทรัพย์

ขั้นตอนก็คือ เจ้าหนี้จะต้องทำการยื่นเรื่องบังคับคดีกับลูกหนี้ ต่อกรมบังคับคดีภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาล  เท่ากับว่าเจ้าหนี้ได้ทำหน้าที่ของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังระยะเวลา 10 ปี เจ้าพนักงานบังคับคดีจะยังยึดทรัพย์ของลูกหนี้ได้อยู่ตลอด เพราะเจ้าหนี้ไปสืบจนเจอว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินให้ยึด

แต่หากพ้น 10 ปีไปแล้ว เจ้าหนี้ไปสืบมาใหม่ และเจอว่าลูกหนี้มีทรัพย์สิน กรณีแบบนี้จะทำเรื่องยึดทรัพย์ต่อไปไม่ได้ เพราะหมดระยะเวลา 10 ปีที่จะยื่นเรื่องไปแล้ว

สรุปให้ชัด ๆ ก็คือ หากเจ้าหนี้ยื่นเรื่องภายใน 10 ปี ก็จะทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตามยึดทรัพย์ลูกหนี้ได้ตลอด

ดังนั้นเราจะเห็นว่าระยะเวลา 10 ปี ไม่เหมือนอายุความของหนี้บัตรต่าง ๆ ที่หากเลยเวลาไปแล้ว ลูกหนี้จะได้เปรียบทันที เพราะมีโอกาสนำไปขอต่อสู้ในศาล และชนะคดีได้ แต่ส่วนนี้ เจ้าหนี้ทำหน้าที่สืบทรัพย์และยื่นเรื่องภายใน 10 ปีเรียบร้อยแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่า เจ้าพนักงานบังคับคดี จะทำงานได้ช้าเร็วมากแค่ไหนเท่านั้นเอง

ทางรอดสุดท้ายคือ “ห้ามมีทรัพย์สินภายใน 10 ปีเด็ดขาด!”

หลายคนคิดว่า เมื่อเราแพ้คดีแล้วจะทำยังไงไม่ให้ถูกตามสืบทรัพย์ได้ เพราะลูกหนี้บางราย ก็ไม่รู้ว่าจะไปหาเงินจากที่ไหนมาผ่อนชำระให้เจ้าหนี้ ดังนั้นทางรอดสุดท้ายก็คือ จากนี้ไปอีก 10 ปี จะต้องไม่ทำธุรกรรมหรือสัญญาใด ๆ ในเรื่องทรัพย์สิน เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้สืบทราบได้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่รอด เพราะเจ้าหนี้เครือข่ายกว้างขวางเกินกว่าที่เราจะรู้ได้เช่นกัน

แต่ที่จะทำให้พลาดหรือต้องยอมก็คือ คนเราต้องทำงาน ส่วนนี้จะทำให้เจ้าหนี้สืบทราบได้ง่ายมาก จากการส่งเงินประกันสังคม จึงต้องทำใจว่าจะต้องถูกอายัดเงินเดือนแน่นอน  แต่ก็เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะศาลไม่อนุญาตให้ยึดทรัพย์ จนลูกหนี้หมดทางทำมาหากิน

ทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ว่า เราควรรับทราบปัญหาที่เราสร้างขึ้นมา หากได้รับหมายศาล ก็ไม่ควรเพิกเฉย เพราะศาลท่านจะพิจารณายอดหนี้ให้เราใหม่อีกครั้งอย่างเป็นธรรม แต่หากเราไม่สนใจเลย นอกจากจะไม่ได้ลดยอดแล้ว ยังจะทำให้เสี่ยงต่อการถูกยึดทรัพย์แบบไม่รู้ตัวได้ด้วย และหากเผลอไปมีทรัพย์สินก่อน 10 ปี ก็เป็นอันถูกยึดไปใช้หนี้แน่นอน ดังนั้นทางรอดแม้จะมีน้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มี…