Sun. May 5th, 2024

ในบทความนี้ จะพูดถึงวิธีการนับอายุความ เพราะหากเรานับเป็นและนับถูกต้อง ก็จะทำให้ไม่ต้องจ่ายหนี้เลยสักบาทเดียว ซึ่งส่วนนี้ก็ต้องไปเขียนคำขอต่อสู้ในศาล เพื่อให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ชนะ แต่หากเป็นหนี้ที่ยังไม่หมดอายุความ และเราไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี ซึ่งมีบางเรื่องที่เราต้องระวัง มิเช่นนั้น หนี้หลักหมื่นอาจทำให้สูญบ้านทั้งหลังไปเลยก็ได้ … ไปอ่านกันเลยค่ะ

1.วิธีการนับอายุความ

ให้เริ่มนับจากวันที่ผิดนัดครั้งสุดท้าย ย้ำว่า!! ไม่ใช่การจ่ายครั้งสุดท้าย ดังนั้นเราต้องรู้ว่าหนี้แต่ละตัวมีวันนัดชำระวันที่เท่าไรบ้าง ซึ่งอยู่ในใบแจ้งหนี้ทั้งหมดแล้ว มาดูตัวอย่างการนับอายุความที่ถูกต้องกัน ตัวอย่างเช่น :

  • ชำระครั้งสุดท้าย 6 กรกฎาคม 2557
  • เท่ากับเริ่มผิดนัดชำระ 7 สิงหาคม 2557
  • สินเชื่อส่วนบุคคล มีอายุความ 5 ปี
  • เท่ากับมีอายุความถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2562
  • หมายศาลลงวันที่คำนวณยอด 13 ธันวาคม 2562
  • เท่ากับฟ้องหนี้หมดอายุความ

หากมีข้อความในหมายศาลบอกว่า “มียอดหนี้ค้างปรากฏ ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2558” ก็เท่ากับว่าหนี้สินก้อนนี้ยังไม่หมดอายุความ แต่หากเรามั่นใจว่าไม่ได้จ่าชำระเข้าไปแน่นอน ก็ต้องไปพิสูจน์กันต่อหน้าศาลอีกครั้ง เพราะอาจเป็นเจ้าหนี้ที่จ่ายให้เรา เพื่อไม่ให้หนี้ก้อนนี้หมดอายุความลง

ส่วนเรื่องของอายุความ สรุปตามตัวอย่างข้างต้นคือ หนี้ขาดอายุความ ไปแล้ว แต่โจทก์ (เจ้าหนี้) ยังสามารถฟ้องได้ตามกฎหมาย  และเราจะต้องหยิบยกประเด็นเรื่องการขาดอายุความขึ้นมาสู้ โดยต้องทำเป็นเอกสารซึ่งมีแบบฟอร์มให้เราเขียนคำขอต่อสู้ จะไปพูดปากเปล่าไม่ได้เด็ดขาด และอย่าชะล่าใจว่า ศาลจะยกขึ้นมาให้เราเอง เพราะไม่ใช่สิทธิของศาลที่จะทำได้ 

2.ลูกหนี้ควรต้องไปศาลหรือไม่?

ตอบว่า “ควรไป” หรือจะส่งตัวแทนไปก็ได้เช่นกัน

กรณีที่หนี้ยังไม่หมดอายุความ หากเราตัดสินใจไปศาล ก็คือไปไกล่เกลี่ย ที่เราจะได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ว่า “ประนีประนอมยอมความ” สุดท้ายเรายอมจ่ายเท่าไร ก็ต้องจ่ายให้เจ้าหนี้ไปตามนั้น โดยจะมีการทำสัญญากันใหม่อีกที ซึ่งส่วนนี้เราสามารถเจรจาต่อรองลดยอดหนี้ หรือขอ Haircut ลงได้ หลังจากนั้นหากไม่จ่ายตามที่ได้ตกลงกันไว้ เรื่องก็จะไปถึงขั้นอายัดเงินเดือนหรือยึดทรัพย์ต่อไปอีกที

แต่หากเรารู้อยู่แล้วว่า “หนี้ขาดอายุความ” ก็ไม่จำเป็นต้องไปไกล่เกลี่ยใด ๆ ให้เสียเปรียบ ให้เรายกประเด็นขาดอายุความขึ้นต่อสู้ได้เลย ยังไงลูกหนี้ก็ชนะอยู่แล้ว และไม่ต้องจ่ายหนี้เลยด้วยซ้ำไป แต่เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิในการทวงถามต่อไปเรื่อย ๆ ดังนั้นก็ต้องอดทนกับส่วนนี้ด้วย

3.มีชื่อเป็นเจ้าบ้านแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านยึดทรัพย์ได้หรือไม่

หากเราไปไกล่เกลี่ยแล้วจ่ายไม่ไหว ก็จะเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี ในกรณีการถูกยึดทรัพย์หรือยึดบ้าน จะมีคำถามว่า “มีชื่อเป็นเจ้าบ้าน แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของบ้าน จะยึดบ้านได้หรือไม่?” เรื่องนี้กฎหมายให้สันนิฐานไว้ก่อนว่า “เจ้าบ้านคือเจ้าของบ้าน” แต่หากเราไม่ใช่เจ้าของบ้านจริง ๆ ก็ต้องไปยื่นคำร้อง พร้อมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้

การยึดทรัพย์และอายัดเงินเดือน มีรายละเอียดปลีกย่อยในข้อกฎหมายอยู่มาก เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ยึดทั้งหมด จนลูกหนี้ไม่เหลืออะไรเลย เจ้าหนี้ต้องเหลือบางส่วนให้ลูกหนี้ไว้ใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไปด้วย

ดังนั้น หากใครเดินมาถึงจุดนี้ ก็ต้องศึกษาข้อกฎหมายเพื่อหาวิธีรับมือเอาไว้ และที่พลาดกันบ่อยก็คือ คิดว่าบ้านยังผ่อนธนาคารอยู่แล้วจะไม่ถูกยึด!! อันนี้ต้องบอกก่อนว่า เจ้าหนี้สามารถยึดไปขายทอดตลาดได้เช่นกัน