Sun. May 5th, 2024

เชื่อว่ามากกว่า 95% ไม่มีใครหรอกอยากเป็นหนี้  แล้วอีก 5% ชอบเป็นหนี้งั้นรึ? คำตอบคือ “ไม่น่าจะใช่” เอาแบบกลาง ๆ จะเป็นในเรื่องของการลงทุนมากกว่า หากกิจการดำเนินไปตามที่วางแผนเอาไว้ ก็เอากำไรไปชำระหนี้ ซึ่งเราจะไม่พูดถึง เพราะไกลตัวไปมาก…

กลับมาที่เรื่องใกล้ตัวดีกว่า เราจะพูดถึงในเรื่อง หลังการขอสินเชื่อสำเร็จเสร็จสรรพแล้ว หน้าที่สำคัญคือ “การผ่อนชำระ” ซึ่งต้องอาศัยการมีวินัยทางการเงินอย่างสูง บางคนบอกว่าไม่ใช่ปัญหา เพราะวางแผนเอาไว้หมดแล้ว แต่บางคนเลิกลั่ก คิดแค่ว่าขอให้ได้เงินก้อนมาก่อนเหอะ เรื่องอื่นค่อยว่ากัน (คนคิดแบบนี้มีจริง ๆ นะ) คิดแบบนี้อนาคตไม่สดใสแน่นอน

เรามีคำแนะนำง่าย ๆ มาเสนอ หากทำได้ไม่ผิดจากนี้ ก็จะเข้าตำราที่เค้าบอกกันว่า “เป็นหนี้อย่างเป็นสุข” ได้

5 ข้อต้องทำ หลังได้รับอนุมัติสินเชื่อ เพื่อป้องกันปัญหาบานปลาย

1.ต้องใช้ในเรื่องที่ตั้งใจเท่านั้น :

สินเชื่อส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นเงินก้อนใหญ่ เช่น สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน ก่อนจะเป็นหนี้ ทุกคนรู้ดีแก่ใจว่าเราเป็นหนี้อะไรบ้าง และเพราะอะไร ถึงแม้ว่าจะจำได้บ้าง ไม่ได้บ้างก็เถอะ หากตั้งใจจะเก็บหนี้ก้อนเล็ก ๆ ลงกรุ เพื่อจ่ายหนี้ที่เดียว ก็จงทำไปตามนั้น หลังได้เงินก้อนมาแล้ว ก็อย่าผิดแผน เอาไปใช้นอกเรื่อง และอย่าหาข้ออ้างให้สิ่งเหล่านั้นดูดี เพราะยังไงแล้วทุกปัญหาต้องได้รับการแก้ไข แต่ความตั้งใจอย่าไปปรับเยอะ เพราะมันจะยุ่งวุ่นวายไม่รู้จบ

ผลเสียที่เรากู้เงินมา แล้วไม่จ่ายชำระหนี้ให้ตรงเวลา อาจทำให้ถูกสืบทรัพย์บังคับคดีได้ในที่สุด

2.เช็คสอบรายการในใบแจ้งหนี้เสมอ :

อย่าไปไว้ใจเจ้าหนี้มากนัก และอย่าไว้ใจตัวเองด้วย เริ่มต้นตั้งแต่ใบแจ้งหนี้ใบแรกให้เป็นนิสัย เมื่อมาอยู่ในมือ ก็จับมาเคาะตัวเลขก่อนเลย ว่าคิดดอกเบี้ยถูกต้องหรือไม่ ข้อดีก็คือทำให้เราคำนวณการจ่ายชำระเป็น ยิ่งหากเป็นหนี้ที่อัตราดอกเบี้ย เป็นแบบลดต้นลดดอก จะค่อนข้างเร้าใจนิดหนึ่ง เพราะแรก ๆ ค่าดอกเบี้ยจะมาแรงมาก แต่พอผ่านไปสักครึ่งทาง เราจะเบาใจกับเงินต้นที่ทำนิวไฮได้เช่นกัน

ดังนั้น เพื่อป้องกันความผิดพลาด เราควรตรวจสอบใบแจ้งหนี้อยู่เสมอ อย่างน้อยเราจะได้มีความรู้ในการคำนวนอัตราดอกเบี้ยไปในตัวด้วย

3.จ่ายชำระให้ตรงเวลาเสมอ :

เป็นหน้าที่ของลูกหนี้ที่ดีอยู่แล้ว เพราะการจ่ายตรงเวลา เป็นการสร้างเครดิตที่ดีให้กับเราเอง แต่ก็ยังมีคนส่วนหนึ่งที่ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน รู้ทั้งรู้แต่ไม่สนใจ หลังจากนั้นไม่นาน ชีวิตก็อยู่ไม่เป็นสุข เพราะต้องหลบเลี่ยง หรือต้องอดทนกับการถูกพนักงานทวงหนี้ทางโทรศัพท์โทรทวงหนี้แบบถี่ยิบไปเรื่อย ๆ แต่สำหรับบางคนก็อาจจะลืมได้จริง ๆ อันนี้ก็จัดเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้บ้าง

วิธีแก้ก็คือตั้งโทรศัพท์ให้เตือน หรือไม่ก็จดเอาไว้ ในที่ที่คิดว่าเป็นจุดเตือนความจำของเรา ลืมครั้งสองครั้งไม่ใช่ปัญหา แต่ลืมบ่อย ๆ เค้าเรียกว่าตั้งใจไม่จ่ายมากกว่านะ

4.มีเงินก้อนใหญ่ให้รีบโปะ :

การตัดสินใจโปะหรือปิดหนี้ บางทีก็เป็นเส้นบาง ๆ ของการตัดสินใจ เพราะมีอะไรอีกมากมายที่จำเป็นต้องใช้ แต่ก็อยากให้หนี้ลดลงด้วย  การปิดหนี้ก่อนกำหนด มีเงื่อนไขที่ต้องเช็คให้ดี ๆ ก่อน เพราะหากเราปิดก่อนกำหนด อาจต้องเสียค่าปรับจำนวนหนึ่ง แต่รู้สึกว่ากฎหมายใหม่จะไม่ให้ปรับแล้ว ต้องไปดูข้อกฎหมายกันอีกครั้งในเวลานั้นด้วย

กรณีนี้อาจใช้วิธีกันเงินเอาไว้จนครบระยะเวลา ค่อยนำเงินไปปิดทีหลังจะดีกว่า แต่สำหรับการโปะหนี้บางส่วน ถ้ามีโอกาสก็จงรีบทำ เพราะเป็นหนทางที่ทำให้เราหมดภาระหนี้สินได้เร็วขึ้น

5.แจ้งเปลี่ยนที่อยู่เสมอ :

เรื่องนี้อย่าทำเป็นเล่นไป หากเราย้ายที่อยู่และเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ แล้วบังเอิญว่าลืมจ่ายชำระหนี้ก้อนเล็ก ๆ 1 รายการ หากทางเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อเราได้ เบี้ยปรับต่าง ๆ จะทบทวีคูณโดยที่เราไม่รู้ตัว จนถึงเข้าสู่กระบวนการของศาล แล้วเจ้าหนี้สามารถสืบทราบได้ว่าเราอยู่ที่ไหน อาจเป็นเหตุให้ถูกสืบทรัพย์บังคับคดีเอาง่าย ๆ ได้ รวมถึงการเป็นผู้ค้ำประกันด้วย เพราะหากลูกนี้ที่แท้จริงมีปัญหา เจ้าหนี้จะแจ้งมาที่ผู้ค้ำประกันให้ทราบ ดังนั้นต้องระวังให้มาก ๆ

การเครียดเรื่องเงิน เป็นเรื่องใหญ่มากอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าไปทำให้มันใหญ่ขึ้นอีก เมื่อได้เงินก้อนใหญ่มา ก็พยายามใช้จ่ายตามที่วางแผนเอาไว้ จ่ายชำระหนี้ให้ตรงเวลา ระหว่างนี้ก็หาทางเพิ่มรายได้ โดยระวังเรื่องความเสี่ยงให้มาก แต่อย่าลืมว่า การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด

By : Parichart J.