Mon. May 6th, 2024

ปัญหาของคนมีหนี้สิน ท้ายที่สุด (แต่ไม่สุดท้าย) ก็คือการ “ถูกฟ้องศาล” และเราควรต้องเตรียมตัวยังไงกันดี บางคนไม่มีงานประจำ มีเพียงรายได้จากการรับจ้าง และไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ให้ยึด บางคนมีครบหมดทุกอย่าง ทั้งงานประจำและทรัพย์สิน และบางคนอาจมีอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ทำให้เราต้องตัดสินใจ ว่าจะไปศาลหรือไม่ หากไปจะมีข้อได้เปรียบไปต่อสู้ในศาลบ้างหรือเปล่า ในบทความนี้เรามีข้อแนะนำ

สิ่งที่เป็นความกังวลอีกหนึ่งอย่างก็คือ หากไม่ได้จ่ายตามที่เจ้าหนี้ฟ้องศาล เราจะต้องติดคุกชดใช้หรือไม่? ตอบตรงนี้ให้สบายใจได้เลยว่า “ไม่ติดคุก ไม่ติดคุก ไม่ติดคุก” .. เพราะเป็นคดีแพ่ง ไม่ต้องกังวลใจเลย ไปดูสิ่งที่เราต้องเตรียมความพร้อมกันดีกว่า

การเตรียมตัวเพื่อไปสู้คดีตามหมายศาล

1.ทำความเข้าใจคำฟ้อง

คำฟ้องจะมากจะน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราไม่จ่ายมานานแค่ไหนแล้ว เจ้าหนี้จะระบุมาให้เราทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเงินต้น – ดอกเบี้ย – ค่าติดตามทวงถาม – เบี้ยปรับ – ค่าธรรมเนียม และอื่น ๆ ลองเคาะคำนวณแยกออกมาพิจารณาดู ว่าสมเหตุสมผลหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ หากเกินกว่ากฎหมายกำหนดที่ 15% ต่อปี ก็สามารถนำไปเป็นข้อต่อสู้ในศาลได้

2.หาข้อต่อสู้ที่ได้เปรียบให้เจอ

  • หนี้บัตรกดเงินสด , สินเชื่อส่วนบุคคล (ที่จ่ายเป็นงวด) อายุความกี่ปี? ตอบ 5 ปี
  • หนี้บัตรเครดิต อายุความกี่ปี? ตอบ 2 ปี
  • สัญญาเงินกู้ อายุความกี่ปี? ตอบ 10 ปี
  • ดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนด 15% ต่อปี

ดังนั้นให้ไปดูว่าหนี้บัตรเครดิต หรือหนี้บัตรอื่น ๆ ของเรา มีข้อต่อสู้ที่ได้เปรียบส่วนไหนอยู่บ้าง ต้องหาให้เจอก่อน หากพบว่าหนี้สินของเรา “หมดอายุความ” ก็ให้หาผู้ที่ชำนาญทางนี้เข้ามาช่วยอีกแรง ในการเขียนข้อต่อสู้ในศาล เพราะเรามีโอกาสชนะคดีสูงมาก ห้ามไปพูดแบบปากเปล่า เพราะใช้ในศาลไม่ได้ (แนะนำปรึกษาทนายคดีเพ่ง)

3.ไปศาลตามนัดและคุยกับทนายโจทก์

ด่านแรกเราจะเจอกับทนายโจทก์ก่อนใช่ไหม? อย่าไปกลัวหากเค้าจะมีคำพูดแกมขู่เล็ก ๆ เพราะเป็นเรื่องปกติ ให้อดทนและไม่ต้องไปสนใจ แต่ให้ถามเลยว่า “จะลดให้เท่าไร” เพราะทางเจ้าหนี้จะมียอดที่หักส่วนลดในมืออยู่แล้ว ให้ขอต่อรองไปเลย เผื่อจะได้ยอดที่พอใจ ใกล้เคียงกับที่เราตั้งใจเอาไว้ แต่หากไม่ลงตัว จะขอเลื่อนศาลออกไปก่อนก็ได้ เผื่อจะได้มีเวลาหาเงินอีกประมาณ 1 เดือน แต่หากพร้อมก็ให้ศาลท่านพิพากษาไปเลย ก็ทำได้เช่นกัน โดยใช้ข้อได้เปรียบในข้อ 2 เข้าต่อสู้ (ถ้ามี)

โดยส่วนใหญ่แล้ว หากเป็นหนี้ที่ยังไม่หมดอายุความ ศาลจะปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลงมาเหลือ 15% แต่ต้องจ่ายชำระภายใน 15 วันนั้น ซึ่งศาลท่านไม่ได้กำหนดว่าเราต้องจ่ายเป็นเงินเท่าไร จึงเป็นหน้าที่ของลูกหนี้ที่จะต้องเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้เอาเอง

ทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ว่า หากเราไม่ไปศาล อาจจะมีการพิจารณาคดีลับหลังได้ ด้วยเหตุของการผิดนัดของเรา โดยศาลจะตัดสินให้เราใช้หนี้ไปตามคำฟ้อง และหากเราไม่สนใจใช้หนี้ตามกำหนด เรื่องก็จะเดินไปสู่ขั้นตอนของการสืบทรัพย์บังคับคดี ซึ่งเป็นข้อเสียของผู้ถูกฟ้องที่มีทรัพย์สินอย่างมาก แต่หากเราไม่มีทรัพย์ใด ๆ ก็เป็นอันรอดพ้น แต่ต้องไม่มีทรัพย์สินให้ครบระยะเวลา 10 ปี

เพิ่มเติมอีกนิดว่า ระยะเวลาบังคับคดีคือ 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลพิพากษา ดังนั้น 10 ปีนี้ หากเจ้าหน้าที่บังคับคดีสืบทราบได้ว่า เรามีทรัพย์ใด ๆ หรือทำงานมีเงินเดือน ก็จะเข้าอายัดได้ถูกต้องตามกฎหมายเช่นกัน และส่วนนี้คือสิ่งที่เราต้องระวัง หากคิดจะไม่ไปศาลตามหมายฟ้อง