Sun. May 5th, 2024

เมื่อเราเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสด จนถึงวันที่หาเงินมาจ่ายไม่ได้แม้แต่ขั้นต่ำ  จึงตัดสินใจว่าจะหยุดจ่ายก่อน พอพ้น 2-3 เดือนเป็นต้นไป เจ้าหนี้โหดที่ทำตัวแสนดี จะติดต่อมาให้ความช่วยเหลือ โดยเสนอหรือแนะนำให้เราปรับโครงสร้างหนี้ โดยบอกกับลูกหนี้ว่า จ่ายขั้นต่ำน้อยลง ดอกเบี้ยถูกลง ระยะเวลาผ่อนชำระมากขึ้น

ตัวอย่าง (ตัวเลขสมมติ) เช่น

  • นายเอ มีหนี้บัตรเครดิต 30,000 บาท
  • นายเอ ไม่มีเงินจ่ายขั้นต่ำอีกต่อไป จึงหยุดจ่ายรวม 3 เดือน
  • ยอดหนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 33,000 บาท รวมค่าติดตามทวงถาม-ดอกเบี้ย-ค่าปรับ
  • เจ้าหนี้เสนอให้ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่
  • สัญญาใหม่ ดอกเบี้ย 13% (ถูกลง) ผ่อนชำระ 5 ปี
  • จำนวนเงินในสัญญาใหม่ คือ หนี้เก่า 33,000 บาท + ดอกเบี้ยใหม่

จากตัวอย่างนี้ จะเห็นว่ามีนัยสำคัญซ่อนอยู่ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่เชื่อหรือไม่ว่า ข้อเสียกลับเยอะมากกว่า และเจ้าหนี้ไม่มีวันบอกเราเด็ดขาด ดังนั้น เราไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง ที่เราต้องคิดตรึกตรองให้ดี อ่านแล้วจะยังอยากปรับโครงสร้างหนี้อยู่หรือไม่ ก็เอาที่สบายใจล่ะกันเนอะ

4 ข้อน่าคิด ปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต-บัตรกดเงินสด ทางออกหรือทางตัน?

1.ไม่มีคนมาติดตามทวงถามให้ทุกข์ใจ (หากจ่ายปกติ)

เอาจริง ๆ แค่จ่ายไม่ตรงเวลา 1 วัน เจ้าหนี้ก็โทรยิก ๆ ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งต่อวันแล้ว หากไม่จ่าย 2-3 เดือน ไม่อยากคิดว่าจะโทรทวงหนี้ถี่ยิบขนาดไหน  แต่หากเราตัดสินใจไปเซ็นสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ก็จะไม่มีคนมาทวงหนี้ให้ทุกข์ใจอีกต่อไป ดีไหมล่ะ? …

แต่เราต้องถามตัวเองก่อนนะ ว่าหลังจากนี้ เราจะสามารถจ่ายเงินได้ตลอดสัญญาไม่ขาดตกบกพร่อง  เพราะหากปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว แต่ยังไม่จ่ายเหมือนเดิม ก็เตรียมรับโทรศัพท์แบบถี่ ๆ กันใหม่ได้เลย

2.เจ้าหนี้เสนอเงื่อนไข(เหมือนจะ)ดีให้กับเรา

จากตัวอย่างข้างบน เราจะได้รับเงื่อนไขสุดพิเศษ คือ ไม่มีเจ้าหนี้มาตามทวงอีกต่อไป  / ได้ลดดอกเบี้ยเหลือเพียง 13-15% ต่อปี / ได้จ่ายขั้นต่ำลดลงจากเดิม / ได้ระยะเวลาผ่อนชำระนานขึ้น …โอ้โห!!! อะเมซิ่งไทยแลนด์แดนสยามมาก มีแต่ได้กับได้!!!

แต่ช้าก่อน!! ดูกันให้ดี ๆ ยอดเงินต้นที่เจ้าหนี้เอามาตั้งในสัญญา ไม่ได้ลดอะไรให้กับเราเลย แถมยังเอาดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าติดตามทวงถาม ค่าดำเนินการต่าง ๆ มาบวกรวมทั้งหมด จากนั้นก็เอามาคำนวณเป็นขั้นต่ำให้กับเรา ตามดอกเบี้ยและระยะเวลาที่ระบุเอาไว้

… เป็นไงล่ะทีนี้!! อะเมซิ่งเจ้าหนี้ไหม… เอาดอกเบี้ยมารวมเป็นเงินต้น แล้วคิดดอกเบี้ยอีกต่อหนึ่ง

3.สัญญาปรับโครงสร้างหนี้จะฟ้องเร็วมาก

ทำใจไว้เลยว่า หากเราผิดนัดชำระหนี้ หลังจากปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว เราจะถูกส่งฟ้องศาลเร็วมาก เพราะสัญญานี้ เจ้าหนี้ได้เปรียบเราทุกกระบวนท่า โอกาสชนะแทบไม่ต้องลุ้น เอาเป็นว่าชนะใสแน่นอน ก็เจ้าหนี้เค้าลดดอกเบี้ยให้เราไปแล้ว แถมยังให้โอกาสเราได้จ่ายหนี้ ในจำนวนเงินที่ลดลงกว่าเดิมอีกด้วย  จึงถือว่าเป็นข้อได้เปรียบในการต่อสู้ในศาลอย่างมาก แถมไม่ยอม hair cut หนี้ (เจรจาลดยอดหนี้) ให้เราอีกด้วย

ปกติแล้ว หากเราปล่อยให้หนี้เน่า จะสามารถ ขอทำ hair cut หนี้ ได้ หลายคนมีจำนวนยอดหนี้เน่าหลักหลายหมื่น-หลักหลายแสน ก็ต่อรองกันได้มากกว่า 50% ด้วยซ้ำไป … คำถามตรงนี้คือ หยุดจ่ายแล้ว เก็บเงินก้อนเอาไว้บ้างหรือยัง?

ส่วนหนี้ปกติที่เจ้าหนี้ไม่ได้ส่งฟ้องศาล ย่อมมีนัยสำคัญเรื่องความคุ้มค่าเป็นหลัก เพราะอาจเสี่ยงที่จะแพ้คดี หรือขาดทุน จึงต้องใช้เวลาทบทวนเป็นราย ๆ ไป ทำให้ลูกหนี้พอจะมีหนทาง ในการหาเงินก้อนมาจ่ายชำระได้ โดยการทำ hair cut หนี้

4.ลูกหนี้เสียเปรียบเรื่องอายุความทันที

เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะหนี้ที่หมดอายุความ ลูกหนี้มีโอกาสชนะคดีสูง และไม่ต้องจ่ายหนี้เลยสักบาท สำหรับผู้ที่ไม่รู้เรื่องอายุความหนี้บัตรเครดิต-บัตรกดเงินด ก็เข้าทางเจ้าหนี้ทันที เพราะไปเชื่อคำหลอกล่อของเจ้าหนี้ จึงหลงไปทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ จะว่าไปแล้ว ก็ถือเป็นความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยเลย

อีกหนึ่งจุดที่ต้องดูในสัญญาให้ดี ว่าเจ้าหนี้ทำสัญญาในหัวข้ออะไร หากทำเป็นสัญญากู้เงินขึ้นมา จะทำให้มีอายุความ 10 ปีทันที เพราะหากเป็นหนี้บัตรจะมีอายุความที่ 2 และ 5 ปีเท่านั้น ดังนั้นคิดให้ดี ๆ อย่าทำให้ตัวเองเสียเปรียบเด็ดขาด

เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ ต้องรู้ไว้อย่างหนึ่งว่า ยังไงเราก็เสียเครดิตอยู่ดี เพราะเราหยุดจ่ายก็เสียเครดิตไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ดังนั้นเมื่อประวัติการเงินเสียไปแล้ว ก็หมดเวลาที่จะต้องมานั่งเสียดาย แต่เราต้องคิดต่อไปว่า จะจัดการกับภาระหนี้สินยังไง คือต้องกำหนดทิศทางของเราให้ได้ และเราต้องไม่ถูกเจ้าหนี้เอาเปรียบด้วย