Sat. May 18th, 2024

การยึดทรัพย์ มีรายละเอียดที่ลูกหนี้ต้องรู้ไว้ เพราะมีความสำคัญอย่างมาก ไม่ใช่ว่าเห็นเจ้าพนักงานบังคับคดีแสดงตนพร้อมเอกสาร ก็ปล่อยให้เค้ายึดเอาทรัพย์สินไปง่าย ๆ เพราะยังมีเงื่อนไขของความเป็นเจ้าของทรัพย์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่สามารถยึดทรัพย์สินเอาไปได้ ถ้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข

ดังนั้นลูกหนี้ที่อยู่ในขั้นตอนการถูกยึดทรัพย์ จึงจำเป็นต้องรู้ว่าแบบไหนยึดทรัพย์ได้ และแบบไหนยึดทรัพย์ไม่ได้บ้าง

ภาพโดย Arek Socha จาก Pixabay

5 ข้อต้องรู้ กรมบังคับคดี จะยึดทรัพย์แบบไหนได้บ้าง

1.ลูกหนี้มีชื่อเป็นเจ้าของบ้าน แต่ทรัพย์สินเป็นของผู้อื่น

ในข้อกฎหมายจะให้สันนิษฐานว่า หากลูกหนี้มีชื่อเป็นเจ้าของบ้าน ทรัพย์สินในบ้านก็ย่อมเป็นของลูกหนี้ แต่ในกรณีที่ลูกหนี้แจ้งว่า ทรัพย์สินที่จะถูกยึดเอาไปนั้น ลูกหนี้ไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่เป็นของผู้อื่นที่อยู่ในบ้าน ซึ่งต้องมีข้อพิสูจน์ด้วย ไม่ใช่แค่อ้างขึ้นมาลอย ๆ หลักฐานที่ว่านี้ก็คือ ใบรับประกันสินค้า ใบเสร็จรับเงินที่มีชื่อระบุไว้อย่างชัดเจน เมื่อลูกหนี้หามายืนยันได้ทั้งหมดแล้ว ก็ต้องยืนต่อศาลเพื่อพิจารณาถึงความน่าเชื่อถืออีกครั้ง

2.ลูกหนี้มีคู่สมรส ให้ถือว่าทรัพย์ในบ้านเป็นสินสมรส

กรณีที่ลูกหนี้มีชื่อเป็นผู้อยู่อาศัย และเจ้าบ้านเป็นคู่สมรส ให้ถือว่าทรัพย์สินในบ้านเป็นสินสมรส ซึ่งลูกหนี้ต้องให้รายละเอียดที่ชัดเจนว่า ทรัพย์สินใดบ้างได้มาก่อนการสมรส และทรัพย์สินใดบ้างได้มาหลังจากการสมรสกันแล้ว ไม่เช่นกันจะถูกนำไปคิดรวมเป็นสินสมรสทั้งหมด ซึ่งตามข้อกฎหมายแล้ว สินสมรสจะต้องแบ่งกันครึ่งหนึ่งก่อน จากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดี จะนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ประกอบการยึดทรัพย์ เฉพาะในส่วนลูกหนี้ต่อไป จะยึดทรัพย์ทั้งหมดเลยไม่ได้เช่นกัน

3.ลูกหนี้อยู่บ้านเช่า เจ้าหนี้จะสืบทราบที่อยู่เพื่อยึดทรัพย์ได้หรือไม่

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เจ้าหนี้จะสืบว่าลูกหนี้อยู่ที่ไหน อย่างแรกสุด คือในทะเบียนบ้าน ดังนั้นลองคิดย้อนกลับไป ตอนที่เรากรอกเอกสาร จะมีการให้กรอกทั้งที่อยู่ปัจจุบัน และที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ธนาคารบางแห่งก็จะมีการติดตามด้วยว่า ลูกหนี้ได้อยู่ตามเอกสารที่แจ้งไว้หรือไม่ อีกหนึ่งวิธีคือการทำสัญญาเช่าบ้าน หากเจ้าหนี้สืบทราบได้ ก็จะตามได้ไม่ยากเลย

ดังนั้น พอสืบได้แล้วว่าลูกหนี้อยู่ที่ไหน ก็จะแจ้งกรมบังคับคดีให้เข้าไปยึดทรัพย์ แต่จะยึดทรัพย์ได้หรือไม่ ก็จะไปเข้าเงื่อนไขของความเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นด้วย เพราะหากทรัพย์สินเป็นของผู้ให้เช่า ซึ่งแสดงเอกสารหลักฐานได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะไม่สามารถยึดทรัพย์นั้นได้ จะยึดได้เฉพาะส่วนที่เป็นของลูกหนี้เท่านั้น

4.เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ไว้แล้ว แต่มีบุคคลอื่นโต้แย้งทรัพย์ว่าตนเป็นเจ้าของ

การโต้แย้งทรัพย์สินที่ถูกยึดไปแล้วนั้นสามารถทำได้ โดยต้องไปร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี เพื่อขอให้มีการปล่อยทรัพย์ที่ถูกยึด และเจ้าพนักงานบังคับดีก็จะชะลอการบังคับคดีเอาไว้ก่อน เพื่อรอฟังคำตัดสินของศาลอีกครั้ง

หากศาลสั่งให้ปล่อยทรัพย์ ผู้ร้องขอก็สามารถนำทรัพย์นั้น กลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้เหมือนเดิม แต่หากศาลสั่งให้ยกคำร้อง เจ้าพนักงานบังคับคดี ก็จะนำไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ต่อไป

5.เจ้าพนักงานบังคับคดี จะยึดอสังหาริมทรัพย์ ที่ติดจำนองได้หรือไม่

ส่วนนี้ยึดได้แน่นอน คิดง่าย ๆ คือ ใบโฉนดด้านหลัง จะระบุชื่อเอาไว้ชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง ธนาคารเป็นเพียงผู้รับจำนองเท่านั้น ดังนั้นในสัญญากู้เงิน จะถูกระบุชื่อทั้งผู้กู้หลัก และผู้กู้ร่วมไว้อย่างชัดเจน หากเกิดการสืบทรัพย์ แล้วพบว่าชื่อลูกหนี้คนใด ไปอยู่ที่ทรัพย์สินชิ้นไหน ที่ใด ที่สืบทราบได้ จะถูกเจ้าหน้าที่บังคับคดีเข้ายึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาดทั้งสิ้น และนำเงินมาจ่ายชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ต่อไป

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว จะมีเหตุการณ์การยึดทรัพย์สินที่มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปอีกมาก และบางอย่างก็มีความซับซ้อนพอควร จนต้องมีการยื่นเรื่องไปยังศาลเพื่อให้ตัดสินเพิ่มเติมอีกได้ แต่การมีความรู้เอาไว้บ้าง ย่อมเป็นเรื่องที่ดีมากกว่า เพื่อให้การยึดทรัพย์เป็นไปอย่างถูกต้อง และไม่ถูกยึดทรัพย์สินของผู้อื่นที่พิสูจน์ได้ในบ้านตนด้วย

By : Parichart J.