Sun. May 5th, 2024

การที่คนเราจะใช้ชีวิตให้มีความสุข ไม่ใช้สักแต่จะใช้ เพราะต้องมีการเรียนรู้เป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของ “เงิน” … เงินของเรา เราต้องเป็นผู้ควบคุม และต้องรู้ว่าอะไรควรทำก่อน-ทำหลัง และเราต้องมีอำนาจเหนือเงิน ไม่ใช่ให้เงินมาอิทธิพลเหนือเรา แต่คนเราทุกวันนี้ ใช้ชีวิตสวนทางกับหลักการไปหมดแล้ว ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ถาโถมเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก

ยังไงก็แล้วแต่ เราทุกคนควรวางแผนการเงิน ใครทุนหนาพอจะวางแผนระยะยาวได้ ก็ทำไปตามสายป่านที่มี แต่ใครที่สายป่านสั้น ก็ค่อย ๆ เริ่มทำไปทีละ 1 เดือน แล้วขยับเป็น 2 เดือน 3 เดือนไปเรื่อย ๆ ให้เป็นนิสัย สักวันมันจะซึมลึกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเอง วันนี้เรามีแนวคิดง่าย ๆ ในการทำให้เงินงอกเงย  3 ข้อ มาแนะนำ… ไปดูกันค่ะ

3 คาถาเสกเงินเพิ่ม ด้วยวิถีการมีวินัย

1. ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นให้น้อยลง

ไม่มีความลับสำหรับการออมเงิน และไม่มีปาฏิหาริย์อะไรทั้งนั้น (ยกเว้นถูกหวย อันนี้ไม่นับ) หลักการพื้นฐานก็คือ เราต้องสร้างวินัยทางการเงินขึ้นมา เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้ตัวว่า เงินออกมากกว่าเงินเข้า นั่นแสดงว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องรัดเข็มขัด มองรายละเอียดเล็กน้อย ๆ ก่อนเลย เช่น เราอาศัยข้าวนอกบ้านบ่อยเกินไปหรือเปล่า หากคำนวณแล้วว่าทำกับข้าวกินเองประหยัดกว่า ก็ควรปรับตัวซะ สิ่งที่ไม่จำเป็นนั่นแหละ เมื่อเอาจำนวนเงินมากองรวมกันแล้ว เราอาจเห็นตัวเลขเหล่านั้นชัดเจนขึ้น

บ้านเราอยู่กัน 4 คน ถ้าแม่เบื่อทำกับข้าว พวกเราก็จะไปซื้อก๋วยเตี๋ยวกินกัน หากรวมค่าขนมจิปาถะอื่น ๆ เข้าไปด้วย จะหมดเงินไปประมาณ 200-300 บาท เคยคุยกันเล่น ๆ ว่า ถ้าเอาเงินจำนวนนี้ไปซื้อผักมาทำต้มจับฉ่าย คงกินได้หลายมื้อ แต่เพื่อไม่ให้ทุกคนเสียกำลังใจ ก็ปลอบใจกันไปว่า “เอาน่า นาน ๆ ที” และจะย้ำกันเสมอว่า เราจะไม่สิ้นเปลืองกันบ่อย ๆ

2.ฝึกจ่ายให้(อนาคต)ของตัวเองก่อน

พวกเราเคยชินกับการเขียนรายการค่าใช้จ่าย เพราะจะได้รู้ว่าสิ้นเดือนมาต้องจ่ายอะไรบ้าง พอเงินเดือนเข้าบัญชี ก็กดจ่ายไปที่บัญชีเจ้าหนี้ก่อนเลย แต่รู้หรือไม่ว่า คนที่มีเงินออม และเงินฉุกเฉิน จะโอนเงินไปยังบัญชีเงินเก็บก่อน เพื่อป้องกันการเอามาใช้ แล้วเอาที่เหลือมาเป็นค่าใช้จ่าย เหมือนเป็นกุศโลบาย บอกตัวเองว่า “ฉันมีเงินเท่านี้ ก็ต้องใช้เท่านี้นะ” พอสิ้นปีเช็คดูยอดเงิน ก็กลายเป็นเงินออมให้เราได้อุ่นใจ ดังนั้น แนะนำให้เริ่มที่จำนวนเงินก้อนเล็ก ๆ หลักร้อยก่อนก็ได้ เพื่อสร้างวินัย พอเริ่มบริหารตัวเลขได้ลงตัวมากขึ้น ก็ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนเข้าไป หรือจะเนียนกดเกินก็ได้นะ ยังไงก็บัญชีของเรานั่นแหละ

3.ไม่ออกนอก Safety Zone

คนทำงานส่วนใหญ่ มักจะมีโซนที่จะต้องควักเงินโดยใช่เหตุอยู่บ่อย ๆ เพราะสังคมอาจบังคับทางอ้อม แต่เราสามารถตีกรอบมันได้ เมื่อเลิกงานแล้ว หากไม่มีความจำเป็นใด ๆ ก็กลับเข้าบ้าน ไปกินข้าวกับครอบครัว หรือใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนในวันหยุด หากที่บ้านมีทุกอย่างครบหมดแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องพาตัวเองไปเสียเงินนอกบ้าน เว้นเสียแต่ว่าเราจะไม่มีวินัย และไม่เห็นความสำคัญของการประหยัด ตามใจตัวเองจนเคยตัว ก็เป็นอันเอวังด้วยประการฉะนี้!!

สรุปง่าย ๆ ก็คือ แนะนำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของวินัยการเงิน โดยเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ  รอบตัวเรา ค่อย ๆ ประหยัดไปทีละเรื่อง ลองมองให้ละเอียด ว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ไม่จำเป็น ก็ค่อย ๆ ตัดทิ้ง โดยเฉพาะของสิ้นเปลืองสำหรับผู้หญิง แม้แต่การกินกาแฟแล้วละหลายสิบบาท คิดเล่น ๆ ว่าหากประหยัดของเหล่านี้ได้วันละ 50 บาท (โดยเฉลี่ย) ก็เท่ากับเรามีเงินเพิ่มเดือนละ 1,500 บาทแล้ว เยอะเอาเรื่องอยู่นะนั่น

เครดิตภาพปก : PublicDomainPictures

By : Parichart J.