เรายังพอจะจำความรู้สึกที่เราเริ่มหาเงิน หรือมีเงินเดือนครั้งแรก ๆ ได้ไหม ตอนนั้นน่าจะยังเด็กกันมาก ด้วยความที่เรายังเป็นเด็ก ความอยากได้ข้าวของต่าง ๆ มันล้นหัวไปหมด ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน ก็มักจะสั่งสอนเราว่า ให้รู้จักใช้ รู้จักเก็บ รู้จักออม ใช้เงินอย่างประหยัด เพราะต้องมีเงินเก็บไว้ใช้ยามแก่เฒ่าด้วย สูตรสำเร็จที่บอกต่อ ๆ กันมา และทำได้ง่ายมากก็คือ ให้ออมก่อนใช้เสมอ แต่ส่วนใหญ่จะทำกันไม่ค่อยได้หรอก
ลองคิดดูว่าตอนเด็ก เวลาไปโรงเรียนกลับมา เราก็จะเอาเหรียญที่เหลือไปหยอดกระปุก จำได้ว่าสมัยอยู่วิทยาลัย ก็มีสหกรณ์ให้เราไปซื้อของกินของใช้จำเป็น พอสิ้นปีเราก็จะได้รับเงินปันผล เงินที่ได้มาแม้มันจะไม่ได้มากมาย แต่ก็ทำให้เราภูมิใจไม่น้อย เพราะยังไม่ได้ทำงานอะไรเลย ก็มีเงินเก็บ เงินออมกะเค้าได้ด้วย แต่ลองมาดูชีวิตของเราทุกวันนี้สิ!! ทำงานหาเงินได้เอง แต่กลับหาความภูมิใจได้น้อยมาก เพราะหามาได้เท่าไหร่ ก็ใช้ออกไปเกือบหมด แถมบางเดือนยังติดลบอีกต่างหาก
สิ่งสำคัญของการไม่มีเงินออม ไม่ใช่เพราะเรามีเงินเดือนมาก หรือเงินเดือนน้อย แต่เพราะเรามักจะคิดถึงการออมเงินเป็นสิ่งสุดท้าย เรียกกันว่าพลิกตำราการออมแบบสุดขั้วไปเลย แทนที่จะคิดออมเงินก่อนเอามันไปใช้จ่าย และนั่นก็หมายถึงว่า เราไม่หลงเหลือนิสัยการออมในวัยเด็กอีกต่อไป ถ้างั้นก็มาเริ่มกันเลย 5 ข้อนี้อาจทำให้คุณปฏิวัติตัวเองได้
5 ข้อ ปฏิวัตินิสัยการออมที่หายไปให้กลับคืนมา
1.วางเป้าหมายของการออมเงิน
วันหนึ่งข้างหน้า เราต้องมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินก้อนแน่ ๆ ดังนั้นก็คิดไว้ว่าเราตั้งใจออมเงินก้อนนี้ไว้เพื่ออะไร เช่น ไว้ใช้ยามฉุกเฉินโดยเฉพาะเวลาเจ็บป่วย ไว้จ่ายค่าประกันชีวิตตอนสิ้นปี ไว้สำหรับเที่ยวต่างประเทศปีละครั้ง เก็บเงินสดไว้ดาวน์รถยนต์ หรือลงทุนและสร้างผลตอบแทน เป็นต้น
2.แบ่งเงินออมออกเป็น 3 ส่วน
เพื่อให้ง่ายต่อการวางแผนการเงิน เมื่อเงินเดือน + รายได้เสริมต่าง ๆ เข้ามาแล้ว ก็ให้แบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
ส่วนที่ 1 : แบ่งเงินออกเป็น 4 ส่วน ให้เก็บ 1 ส่วนไว้เพื่อการออม แต่หากรายได้ยังไม่มาก ก็ควรจะเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมด
ส่วนที่ 2 : ส่วนนี้จะใช้สำหรับการใช้หนี้ ซึ่งไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือนทั้งหมด ดังนั้นไม่ควรสร้างหนี้เกินสัดส่วนนี้ แต่หากไม่มีหนี้สินเลย ก็เอาไปรวมเป็นเงินออมตามส่วนที่ 1
ส่วนที่ 3 : คือเงินที่เหลือจากส่วนที่ 1 และ 2 สำหรับการใช้จ่ายทั้งเดือน และหากมีรายได้มากขึ้น ส่วนที่ควรจะเพิ่มขึ้นตามมา ก็คือส่วนของการออม ในส่วนของการชำระหนี้ และค่าใช้จ่ายควรจะลดลง แล้วก็อย่าออมไว้เฉย ๆ มองหาการลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนที่เหมาะสม ที่สำคัญให้ดูความเสี่ยงที่เรารับได้ด้วย
3.บันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นประจำ
หากเราเป็นชอบจด ชอบเขียน ก็ใช้วิธีตีตารางในสมุดแล้วเขียนก็ได้ แต่หากใครชอบบันทึกเป็นแบบอิเล็กทรอนิคส์ และมีวินัยขั้นสูงอยู่แล้ว ก็อาจเลือกใช้บัตรเครดิตแทนได้ หากใบแจ้งหนี้ออกมา เราก็จะได้เช็คว่า เดือนที่ผ่านมาเราใช้จ่ายอะไรไปบ้าง มีส่วนที่ไม่จำเป็นหรือเผลอสุรุ่ยสุร่ายไปกับอะไรบ้างหรือเปล่า เอกสารการบันทึกเหล่านี้ จะเป็นตัวสะท้อนพฤติกรรมการใช้เงินของเราได้เอง อ้อ!! แถมบัตรเครดิต หากใช้เป็น ก็จะตามมาด้วยสิทธิพิเศษอีกมากโขเลย
4.ใช้สิทธิทางภาษีให้เป็นประโยชน์
เรื่องภาษีเป็นเรื่องที่นักออมเงินต้องใส่ใจ เพราะไม่งั้นเราจะพลาดสิทธิประโยชน์ดี ๆ ไปอีกมาก หากเราเลือกออมเงินในประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตแบบบำนาญ LTF / RMF เราก็นำไปลดหย่อนภาษีได้ ส่วนรายจ่ายอื่น ๆ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย การดูแลพ่อแม่ เงินบริจาค ประกันสังคม รวมถึงแคมเปญที่ทางรัฐบาลจัดไว้ ก็นำไปลดหย่อนได้ด้วยเช่นกัน เงินคืนที่เราได้รับมา 1 ก้อนนี้ สามารถนำไปลงทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าเงินออมต่อไปได้อีกด้วย
5.ทิ้งนิสัยผลัดวันประกันพรุ่ง
4 ข้อข้างต้นเป็นเทคนิคง่าย ๆ และเป็นพื้นฐานของการออมเท่านั้น แต่สำหรับข้อสุดท้ายนี้ง่ายยิ่งกว่า แต่ก็ยากที่สุดด้วย ก็คือนิสัยผลัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งต้องยอมรับว่าทุกคนต้องเป็น ดังนั้นคงไม่มีใครที่จะมาเปลี่ยนนิสัยของเราได้ นอกจากตัวเราเอง เราต้องคิดถึงอนาคตให้มาก ๆ เพราะตัวอย่างก็มีให้เห็นได้ไม่ยาก ถ้าไม่อยากต้องไปยืน ณ จุดที่เรียกว่าปากเหว ชีวิตส่วนตัวและครอบครัวล้มเหลว ก็จัดสรรปันส่วนกันใหม่ ถ้ายังมีวันพรุ่งนี้อยู่ ชีวิตของเราก็เริ่มต้นใหม่ได้ทุกวัน
มีคำกล่าวว่า “หากวันนี้ไม่หยุดซื้อของที่ไม่จำเป็น คุณอาจต้องขายของที่จำเป็นในอนาคต” ยังไงก็อย่าให้ต้องเป็นแบบนี้เลย สู้ ๆ กันนะทุกคน
By : Parichart J.