Sat. Dec 14th, 2024

เมื่อลูกหนี้ไม่มีทรัพย์ให้ยึด เจ้าหนี้จะติดตามทวงถามยังไงก็ไม่ได้เงินคืนอยู่ดี แต่วิธีการที่ลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินใด ๆ เลยก็ไม่ได้ง่ายเช่นกัน… 5 ข้อต่อไปนี้ เป็นแนวทางเอาไว้ให้ลูกหนี้กำหนดทิศทางได้ในระดับหนึ่ง ไปดูกันว่าจะเข้าเงื่อนไขใดบ้าง และจะทำได้มากน้อยแค่ไหน

1.ต้องรู้ระยะเวลาในการสืบทรัพย์

“10 ปี” ท่องเอาไว้เลย ว่าเจ้าหนี้มีระยะเวลาในการสืบทรัพย์ลูกหนี้ 10 ปี หากลูกหนี้อยู่ในภาวะที่ไม่มีเงินเดือน (หรือรับเป็นเงินสด) , ไม่มีทรัพย์สินในชื่อของตนเอง , ไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคารในชื่อของตนเองทุกกรณี ก็ให้อยู่ในภาวะแบบนี้ไปเลยเป็นเวลา 10 ปี ยอดหนี้ที่ถูกศาลพิพากษา ก็จะถูกแขวนลอย (แขวนหนี้) เอาไว้แบบนั้น เมื่อพ้นระยะเวลา 10 ปีแล้ว ก็เป็นอันหมดอายุความ เจ้าหนี้จะทำการยึดทรัพย์ใด ๆ ไม่ได้อีก แต่ยังคงติดตามทวงหนี้ได้อยู่ตลอด ถือว่าไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

2.ต้องรู้ขั้นตอนการยึดทรัพย์ของธนาคาร/สถาบันการเงิน

ไม่มีข้อกำหนดว่า เจ้าหนี้ต้องอายัดเงินเดือนหรือต้องยึดทรัพย์ก่อน เพราะเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะดำเนินการอย่างใดก่อนก็ได้ทั้งสิ้น โดยเจ้าหนี้ที่สืบทรัพย์ได้ก่อน จะจองอายัด/ยึดทรัพย์ก่อน ส่วนเจ้าหนี้ที่สืบทรัพย์ได้ทีหลัง ก็ต้องรอต่อคิวกันไป

ในกรณีของการอายัดเงินเดือน หากลูกหนี้มีเงินเดือนสูง คำนวนแล้วสามารถอายัดได้ 1-2 รายการ ก็อาจถูกเจ้าหนี้ 2 เจ้ารุมกินโต๊ะได้เหมือนกัน โดยส่วนใหญ่ที่เจ้าหนี้เลือกอายัดเงินเงินเดือน เพราะสืบทรัพย์ได้ง่ายกว่า โดยใช้สิทธิขอรายละเอียดจากประกันสังคม และแจ้งไปยังฝ่ายบุคคลเพื่อขออายัดได้เลย ดังนั้นลูกหนี้อาจต้องเจรจากับฝ่ายนายจ้าง เพื่อขอรับเงินสดแทนการโอนเงินเข้าบัญชี

ส่วนการอายัดทรัพย์จะต้องเข้าสู่การประมูลทรัพย์อีกที ซึ่งจะมีขั้นตอนเยอะมากและใช้เวลานาน หากขายทอดตลาดแล้วยังไม่ครบจำนวนหนี้ ลูกหนี้ก็มีหน้าที่ที่จะต้องหาเงินไปจ่ายเจ้าหนี้ให้ครบ อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครบอกได้ว่าเจ้าหนี้จะเลือกอะไรก่อนหลัง หากสืบทรัพย์ได้ ก็เป็นอันตามยึดได้ทั้งหมดเพื่อนำมาชำระหนี้จนครบ ดังนั้นหากไม่อยากให้เจ้าหนี้สืบเจอ ก็ต้องไม่มีทรัพย์สินในชื่อของตนเอง

3.ต้องรู้ว่าเจ้าหนี้จะสืบบัญชีธนาคาร/อายัดเงินฝากของเราได้ด้วย

คำพิพากษาจะถูกส่งไปที่กรมบังคับคดี เจ้าหนี้มีหน้าที่หารายละเอียดทรัพย์สินเพื่อแจ้งต่อกรมบังคับคดี ซึ่งรวมถึงบัญชีเงินฝากด้วย จุดนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือของฝั่งเจ้าหนี้ล้วน ๆ ว่าจะหาเลขที่บัญชีมาได้อย่างไร? บอกได้เลยว่าเจ้าหนี้หลายรายสามารถทำได้ไม่ยาก และไม่เกินความสามารถด้วย ดังนั้นลูกหนี้ต้องกันเอาไว้ดีกว่าแก้ คือ ห้ามมีเงินฝากในทุก ๆ บัญชี

ส่วนกรณีที่ลูกหนี้มีเงินฝากกับธนาคารที่เป็นหนี้อยู่ แบบนี้ง่ายต่อการดึงเงิน และสามารถทำได้ทันทีที่มีเงินเข้ามา เพราะในสัญญาเงินกู้ต่าง ๆ ได้มีข้อความให้เราเซ็นยินยอมตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว บางรายโดนอายัดเงินเดือนไม่เหลือสักบาทเลยก็มีมาแล้ว

4.ต้องโอนทรัพย์สินก่อนโดนยึดทรัพย์ (ก่อนได้รับจดหมายเตือนการฟ้องศาล)

วิธีการโอนย้ายทรัพย์สินที่ถูกต้องก็คือ ต้องโอนก่อนได้รับ “จดหมายเตือนเรื่องการฟ้องศาล แบบไปรษณีย์ตอบรับ” ส่วนนี้เป็นเรื่องที่ลูกหนี้ต้องใส่ใจเรื่องจดหมายที่มาถึงตัวเองให้มาก ๆ เพราะบางคนไม่ยอมเปิดอ่านหรือโยนทิ้งไปเลยก็มี สิ่งที่ควรรู้ก็คือ เจ้าหนี้จะนำหลักฐานการส่งเอกสารนี้ ไปประกอบการฟ้องร้อง หากพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้ได้รับเรียบร้อยแล้ว ก็หมายความว่า หลังจากนี้การโอนย้ายทรัพย์สินจะเป็นคดีอาญาไปในทันที

แต่ในกรณีที่ลูกหนี้พิสูจน์ได้ว่า ได้ทำการขายทรัพย์สิน เพื่อนำมาชำระหนี้ ก็จะถือว่าไม่มีความผิดหรือไม่ได้ยักยอกทรัพย์แต่อย่างใด โดยเงินที่ได้มา สามารถนำไปชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้รายใดก็ได้ เพียงแต่ต้องเก็บหลักฐานเอาไว้พิสูจน์ในชั้นศาล หากถูกฟ้องกรณีดังกล่าว

5.ต้องเห็นใจผู้ค้ำประกันให้มาก ๆ

ข้อ 1-4 เขียนวิธีเอาตัวรอดให้ได้ศึกษาพิจารณากันไปแล้ว ในข้อ 5 นี้ ขอเขียนให้ลูกหนี้ทุกท่านคิดทบทวนให้จงหนัก เพราะหากท่านทำให้ตนเองรอดพ้นจากหนี้สินได้ ก็ต้องไม่ทำให้ผู้้อื่นต้องทุกข์ร้อนเช่นกัน

หนี้สินที่มีผู้ค้ำประกัน อยากให้ลูกหนี้คิดตรึกตรองให้มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือไม่ก็ตาม ร้อยทั้งร้อยย่อมเป็นเหตุทำให้ผู้ค้ำประกันเดือดร้อนทั้งสิ้น บาปกรรมจะติดตัวท่านไปจนวันสุดท้ายของชีวิต อย่าเอาความทุกข์ของเราไปทำให้คนอื่นเค้าต้องลำบากไปด้วยเลย