Sun. Nov 3rd, 2024

เมื่อเหตุการณ์การค้างชำระหนี้ของเรา ดำเนินมาถึงขั้นตอนของการถูกยึดทรัพย์ ก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดี จะยึดได้ทุกสิ่งทุกอย่างเสมอไป เพราะต้องได้รับการยืนยันแน่นอนก่อนว่า ทรัพย์นั้นเป็นของลูกหนี้จริง ๆ หากกระทำการโดยพละการหรือผิดพลาดใด ๆ ไป ก็อาจจะมีความผิดได้เหมือนกัน

ภาพโดย Photo Mix จาก Pixabay

4 เงื่อนไขการยึดทรัพย์ ในส่วนความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน

1.ลูกหนี้เป็นเจ้าของบ้านตามที่ระบุไว้ในทะเบียนบ้าน (และไม่อยู่บ้าน)

เจ้าพนักงานบังคับคดี จะตรวจสอบทะเบียนบ้านของลูกหนี้ก่อน ว่ามีชื่อเป็นเจ้าของบ้านหรือไม่ หากปรากฎว่าเป็นเจ้าของบ้าน ก็จะเข้าไปดำเนินการยึดทรัพย์ได้ และเมื่อไปถึงบ้านลูกหนี้แล้ว เจอว่าบ้านปิดล็อคประตูไว้ ก็อย่าไปคิดว่าเจ้าหน้าที่เค้าจะทำอะไรไม่ได้ เพราะทรัพย์สินในบ้านจะได้รับการสันนิษฐานตามกฎหมายทันทีว่า การมีชื่อเป็นเจ้าของบ้าน ย่อมเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นด้วย

สิ่งที่จะดำเนินการหากเจ้าของบ้านไม่อยู่คือ เจ้าพนักงานบังคับคดี จะแจ้งต่อตำรวจในพื้นที่ ให้มาเป็นพยานในการยึดทรัพย์ พร้อมทั้งถ่ายภาพ อัดคลิปการงัดแงะต่าง ๆ ไว้จนครบ และลงบันทึกประจำวันเอาไว้เป็นหลักฐาน

2.ลูกหนี้เป็นผู้อยู่อาศัยตามที่ระบุไว้ในทะเบียนบ้าน (และไม่อยู่บ้าน)

แม้ว่าลูกหนี้จะมีชื่อเป็นเพียงผู้อยู่อาศัย แต่ตามกฎหมายแล้ว จะให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า อาศัยอยู่ที่ไหน ก็ย่อมมีทรัพย์สินอยู่ที่นั่น และหากไปถึงที่บ้านแล้ว บ้านถูกปิดล็อค เจ้าพนักงานบังคับคดี จะไม่สามารถเข้าไปยึดทรัพย์ในบ้านโดยพละการได้ ต่างจากการเป็นเจ้าของบ้านในข้อ 1 ซึ่งมีน้ำหนักในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินในบ้านมากกว่า และหากยังฝ่าฝืนเข้าไป เจ้าของบ้านสามารถแจ้งความข้อหา “บุกรุกเคหสถาน” ได้เลย

3.ลูกหนี้เป็นผู้อยู่อาศัย ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของบ้านก่อนเข้ายึดทรัพย์

เนื่องจากลูกหนี้เป็นเพียงผู้อยู่อาศัย ดังนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดี ต้องได้รับการอนุญาตตรวจสอบทรัพย์หรือยึดทรัพย์จากเจ้าของบ้านก่อน ต่อมาหากเข้าไปในบ้านอย่างถูกต้องได้แล้ว ก็ต้องแสดงหลักฐานต่อเจ้าของบ้าน ว่ามีทรัพย์สินใดบ้างที่เป็นของลูกหนี้ และต้องถูกยึดเอาไปชดใช้หนี้ค้างชำระ หากเจ้าของบ้านไม่ยอมให้ยึดทรัพย์นั้น ก็ต้องหาหลักฐานมายืนยันให้ได้ ไม่เช่นนั้น ก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่บังคับคดี ยึดไปตามระเบียบ

4.ลูกหนี้เป็นผู้อยู่อาศัย เจ้าของบ้านเป็นเจ้าของทรัพย์สินแต่เพียงผู้เดียว

ในกรณีที่เจ้าของบ้าน ชี้แจงได้ทั้งหมดพร้อมมีหลักฐาน ว่าทรัพย์สินในบ้านเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว ลูกหนี้ไม่มีสิทธิใด ๆ เลย เป็นเพียงผู้อยู่อาศัยเท่านั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะยึดทรัพย์สินใด ๆ ไม่ได้เช่นกัน จากนั้นก็จะทำรายงานไปยังศาล เพื่อปลดเปลื้องความรับผิดชอบการยึดทรัพย์ตามกฎหมายต่อไป

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเงื่อนไขของความเป็นเจ้าของบ้าน และผู้อยู่อาศัยส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งยังมีรายละเอียดอีกมาก สำหรับทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งลูกหนี้จำเป็นที่จะต้องรู้เอาไว้ เพื่อให้การเข้ายึดทรัพย์เป็นไปอย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ ลูกหนี้เองต้องทำตามคำพิพากษาที่ศาลสั่ง โดยความรู้ต่าง ๆ จะทำให้เข้าใจถึงวิธีการยึดทรัพย์ที่ถูกต้องและไม่ถูกเจ้าหนี้เอาเปรียบจนเกินไปด้วย

By : Parichart J.