“เป็นหนี้สิน อย่าให้ติดเครดิตบูโร” เป็นคำพูดที่ฝังอยู่ในหัว เมื่อเริ่มเป็นหนี้ในวัยเริ่มหาเงินใช้เองได้ มีน้องคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า พอจ่ายหนี้ขั้นต่ำไม่ไหว เลยไม่จ่ายเอาดื้อ ๆ โดยไม่สนใจเครดิตบูโรอะไรอีกแล้ว เพราะก่อนหน้าหนี้ ก็พยายามหมุนเงินอยู่ตลอด แต่ก็หมุนเงินไม่ทันจริง ๆ ประกอบกับช่วงเวลานั้นไม่ได้ทำงานในระบบประกันสังคม ทางเจ้าหนี้ก็เลยตามหาตัวไม่พบ
อีก 4 ปีต่อมา กลับเข้ามาทำงานในระบบประกันสังคมอีกครั้ง เจ้าหนี้ก็เลยตามตัวได้ จากนั้นก็ถูกพนักงานทวงหนี้ทางโทรศัพท์ตามแบบถี่ยิบ ด้วยความรำคาญ จึงตัดสินใจเจรจา สรุปว่าจากยอดทั้งหมด จบกันที่ 26% แต่ก็ใช้เวลาเป็นเดือน เพราะหนี้ก้อนนี้เป็นหนี้บัตรกดเงินสด ใกล้จะหมดอายุความที่ 5 ปี คาดว่าเจ้าหนี้คงอยากปิดจบให้เร็ว เพราะหากส่งฟ้อง ก็คงแพ้คดีแน่นอน เพราะน้องเตรียมสู้เรื่องอายุความเอาไว้แล้ว
ประเด็นที่ทำให้ชีวิตวุ่นวาย คือการหมุนเงินจากอีกที่มาจ่ายอีกที่ น้องบอกว่ามันกระทบไปหมด ไม่จบไม่สิ้น เลยบอกเล่าประสบการณ์ในช่วงนั้นให้ฟัง ซึ่งเราจับหลักใหญ่ใจความมาได้ 3 ข้อ ซึ่งได้ข้อคิดดีมาก ๆ เราไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง
3 ข้อต้องคิด!! อย่าเป็นหนี้เพื่อจ่ายหนี้ จะเครียดเรื่องเงินอย่างมาก
1. อย่าให้ดอกเบี้ยแพงมาสร้างภาระ :
ไม่ว่าจะเป็นการเล่นแชร์ การกู้เงินนอกระบบ หรือเอาเงินจากบัตรกดเงินสดมาจ่ายบัตรเครดิต ห้ามทำทั้งสิ้น เพราะรู้ไว้เลยว่าดอกเบี้ยจากสินเชื่อส่วนบุคคลเหล่านี้ มีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 28% แต่บัตรเครดิตมีดอกเบี้ยที่ 18 ต่อปี ดังนั้นอย่าไปเพิ่มภาระโดยใช่เหตุ ทั้งเป็นหนี้เพิ่ม แถมดอกเบี้ยอีกทวีคูณ หากไม่ไหวก็ให้หยุดจ่าย ระหว่างนี้ให้เก็บเงินก้อน แล้วรอจังหวะทำ haircut หนี้กันอีกที
2. อย่าชวนกันมาเสี่ยงด้วยการค้ำประกัน :
สถาบันการเงินจะมีแคมเปญออกมาเป็นทางเลือก แต่มีเงื่อนไขว่าต้องพาเพื่อนมาค้ำประกันอย่างน้อย 3 คน และเงินเดือนแต่ละคนก็ต้องสูงนิดหนึ่ง พอจัดการเอกสารเสร็จสรรพ ก็เป็นอันได้เงินก้อนมาประมาณ 50,000 บาท ได้เป็นหนี้สินกันถ้วนหน้าสมใจ
พอต่อมามีใครคนหนึ่งเกิดมีปัญหาทางการเงินขึ้นมา นั่นล่ะ!! หายนะมาเยือน เพราะเหมือนกับว่าเราเป็นหนี้เพิ่มอีก 1 ก้อนทันทีจากการที่คนใดคนหนึ่ยหยุดจ่าย ดังนั้นอย่าไปหาเรื่องเครียดเพิ่ม
3. อย่าเอาทรัพย์สินไปจำนอง :
เรื่องนี้ร้ายแรง เพราะบางทีอาจเป็นสมบัติของพ่อแม่-พี่น้อง เราจะโดนกล่าวหาว่าเป็นคนทำให้ครอบครัวพังพินาศได้ การนำทรัพย์สินไปจำนอง เสี่ยงต่อการเสียทรัพย์อย่างมากในสถานการณ์แบบนี้ เพราะเราจำนองเพื่อเอาไปใช้หนี้ ไม่ใช่เพื่อการลงทุน ดังนั้นให้จำไว้อย่างหนึ่งว่า หนี้บัตรเครดิต เค้าไม่ได้ยึดทรัพย์สินที่เราไม่ได้มีชื่อเป็นเจ้าของ รวมถึงเราจะไม่ติดคุกด้วย เพราะเป็นคดีเพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา
ดังนั้น ยิ่งเราไม่มีทรัพย์สิน ก็เป็นเรื่องที่ดีอย่างหนึ่ง หากถึงเวลาที่ถูกสืบทรัพย์บังคับคดี จะทำให้รอดพ้นไปได้ จะเหลือก็เพียงแต่ในเรื่องของเงินเดือนเท่านั้น หากเงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท หรือทำงานราชการก็รอดพ้นด้วยประการทั้งปวง
3 ข้อข้างต้น คิดว่ามากพอจะสร้างความเสี่ยงแบบทวีคูณแล้ว ยิ่งข้อ 3 หนักสุด เพราะจะทำให้ครอบครัวหมดตัวได้ง่าย ๆ ถ้าจ่ายไม่ไหวจริง ๆ ก็ให้สะสมเงินขั้นต่ำเอาไว้ในที่ที่ปลอดภัย ตัดใจหยุดจ่ายไปเลย แล้วรอเวลาเจรจาลดหนี้ ที่สำคัญต้องหมั่นหาความรู้เรื่องกฎหหมายหนี้สินเอาไว้ให้มาก ๆ จะได้รู้เท่าทันเจ้าหนี้ เผื่อว่าเกิดมีการฟ้องร้องขึ้นมา จะได้ดำเนินการได้ถูกต้อง หากโชคดี เจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นฟ้อง ก็อาจจะจบกันที่การเจรจาต่อรองได้
แนะนำทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ว่า หากมีหมายศาลมาที่บ้าน ต้องไปตามนั้น ห้ามผิดนัดศาลเด็ดขาด และอย่าโทรไปปรึกษาทนายเจ้าหนี้ว่าไม่ไปได้หรือไม่ เพราะเค้าอาจจะบอกว่าไม่ไปก็ได้ ซึ่งทางโจทก์จะแจ้งศาลให้พิพากษาลับหลังทันที หลังจาก 15 – 30 วัน (โดยประมาณ) หากเราไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล เจ้าหนี้จะสืบทรัพย์บังคับคดีได้ถูกต้องตามกฎหมาย
แต่หากเรารู้อยู่แล้วว่ายังไงก็ไม่มีเงินจ่ายหนี้ และไม่มีข้อต่อรองใด ๆ ส่วนการถูกสืบทรัพย์บังคับคดีได้เตรียมการเอาไว้หมดอล้ว แบบนี้จะไม่ไปก็สามารถทำได้เช่นกัน
By : Parichart J.