Tue. Oct 15th, 2024

เกริ่นก่อนนิดหนึ่งว่า ก่อนที่จะถึงขั้นตอนของสืบทรัพย์บังคับคดี เราต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะพอควร ทั้งถูกทวงหนี้จากพนักงานทวงหนี้ทางโทรศัพท์ ทั้งขู่ฟ้องศาล (จนกระทั่งฟ้องจริง ๆ) มาต่อที่การทำ haircut หนี้ ตกลงกันไม่ได้ หรือเราไม่มีจ่ายตามที่ได้คุยกัน เจ้าหนี้ก็เลยฟ้องศาล เราก็ยังไม่มีเงินมาจ่ายตามศาลสั่งอีก ก็เลยมาจบลงที่การสืบทรัพย์บังคับคดี ที่ต้องอายัดเงินเดือนและทรัพย์สิน เพื่อเคาะตัวเลขใช้หนี้ที่ค้างกันต่อไป เหลือเท่าไหร่ก็คืนเจ้าทรัพย์

การอายัดทรัพย์สิน

ทรัพย์สินอะไรก็ตามที่มีชื่อเรา (ลูกหนี้) เป็นเจ้าของ จะถูกสืบทรัพย์บังคับดีต่อไป โดยรายละเอียดการยึดทรัพย์ก็จะแตกต่างกัน เพราะเจ้าหนี้ต้องเหลือทรัพย์ให้ลูกหนี้ไว้ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย เช่น เฟอร์นิเจอร์ ตู้ เตียง โต๊ะ หากรวมกันแล้วไม่เกิน 60,000 บาท จะมายึดไม่ได้ ถ้าเกินกว่านี้ ก็สามารถยึดทรัพย์ได้ เครื่องมือในการประกอบอาชีพ ต้องเกิน 100,000 บาท ถึงจะยึดทรัพย์ได้ รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ติดไฟแนนซ์ จะยึดทรัพย์ไม่ได้ เป็นต้น

ที่สำคัญ หากกรมบังคับคดีเข้ายึดทรัพย์ ลูกหนี้ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่า ได้ดำเนินการด้วยวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่ ยิ่งเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง อาจมีการประเมินราคาต่ำกว่าความเป็นจริงได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียเปรียบในส่วนนี้ ลูกหนี้ต้องละเอียดและใส่ใจให้มากพอสมควร

สุดท้ายแล้ว หากลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดได้เลย ก็ต้องมาดูเรื่องของการอายัดเงินเดือนกันต่อ

การอายัดเงินเดือน

เมื่อลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึด ก็จะสืบมาถึงการอายัดเงินเดือน แต่ในรายละเอียดมีเงื่อนไขที่เจ้าหนี้ไม่สามารถทำได้ เราไปดูกันว่าจะมีอะไรบ้าง

ถ้าลูกหนี้มีเงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท จะอายัดไม่ได้ ตามกฎหมายฉบับใหม่ ที่ได้เขียนคุ้มครองลูกหนี้เอาไว้ จะอายัดเงินเดือนได้ เฉพาะในส่วนที่เกินกว่า 20,000 บาทเท่านั้น ไม่ว่าลูกหนี้จะมีเจ้าหนี้กี่สิบรายก็ตาม เช่น ลูกหนี้มีเงินเดือน 35,000 บาท ก็จะเข้าอายัดเงินเดือนได้เพียง 15,000 บาทเท่านั้น เพราะกฎหมายต้องการให้ลูกหนี้มีเงินเหลือไว้ใช้สำหรับการเลี้ยงชีพ อย่างน้อย 20,000 บาท/เดือน

ในกรณีที่เงิน 20,000 บาท/เดือน ไม่พอใช้และอยากขอลดจำนวนเงินที่ถูกอายัด ก็สามารถทำได้ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินที่ถูกอายัด โดยต้องแสดงเหตุผล หลักฐาน ความจำเป็นทั้งหมดต่อเจ้าหน้าที่บังคับคดี เพื่อพิจารณาต่อไปได้

ถ้าลูกหนี้ไม่มีเงินเดือน เช่น ทำงานรับจ้างที่ไม่มีรายรับเป็นเดือน และไม่ได้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะเป็น ขายของตามตลาดนัด เป็นนายหน้าขายสินค้า ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ขับ Taxi หรือวินมอเตอร์ไซค์ รับงานฟรีแลนซ์ เป็นต้น เหล่านี้จะถือว่าเป็นบุคคลตกงาน หรือว่างงาน รายได้ที่ได้รับมา จะไม่ถูกจัดเป็นเงินเดือน กรมบังคับคดีจะเข้าอายัดเงินส่วนนี้ไม่ได้

ถ้าลูกหนี้ทำงานรับราชการ กฎหมายก็เขียนบัญญัติเอาไว้ ว่าห้ามอายัดเงินเดือนของลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ รวมไปจนถึง ค่าจ้าง บำเหน็จ บำนาญ เบี้ยหวัด รายได้อื่น ๆ เงินสงเคราะห์ต่าง ๆ กฎหมายคุ้มครองให้ทั้งหมด เจ้าหนี้จึงไม่สามารถเข้าอายัดเงินเดือนได้ทุกกรณี

การถูกแขวนหนี้

คำนี้เกิดขึ้นมาจาก การที่กรมบังคับคดี ไม่สามารถอายัดทรัพย์สินและเงินเดือนของลูกหนี้ได้เลยสักอย่าง หนี้ก้อนนั้นก็จะถูกแขวนเอาไว้นิ่ง ๆ แบบนั้น เพื่อรอเวลาหมดอายุความ โดยมีระยะเวลา 10 ปี หากเกิน 10 ปีไปแล้ว กระบวนการตามยึด ตามอายัดต่าง ๆ ก็หมดลงไปด้วย

แต่อย่าไปคิดว่าเจ้าหนี้เค้าจะยอมกันง่าย ๆ ในระหว่าง 10 ปี เจ้าหนี้จะพยายามสืบให้ได้ ว่าเราไปมีทรัพย์สินอะไรเพิ่มบ้าง ทุกอย่างที่มีการทำสัญญาหรือกรรมสิทธิ์เป็นชื่อของลูกหนี้ ถ้าสืบเจอเมื่อไหร่ เจ้าหนี้จะแจ้งต่อกรมบังคับคดีทันที เพื่อให้ทำการยึดทรัพย์สินเหล่านั้นนำมาใช้หนี้ต่อไป แต่หากใน 10 ปีนี้ ไม่พบเจออะไรเลย เจ้าหนี้ก็ทำอะไรลูกหนี้เพิ่มไม่ได้เหมือนกัน

สุดท้ายและท้ายสุด เพื่อพ้น 10 ปีไปแล้ว โดยเริ่มนับจากวันที่เราผิดนัดหลังจากถูกศาลท่านพิพากษาแล้ว หนี้ของเราก้อนนี้ก็จะหมดอายุความทันที รวมถึงกระบวนการยึด การอายัดต่าง ๆ ด้วย หลังจากนี้หากเจ้าหนี้สืบทราบทรัพย์สินใด ๆ ก็ตามของลูกหนี้ได้ ก็จะไม่มีสิทธิให้กรมบังคับคดีเข้ายึดทรัพย์ใด ๆ ได้อีก

สรุปคือ ลูกหนี้ปลดเปลื้องพันธกานต์การเป็นหนี้ตามกระบวนการ ไม่ต้องชดใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้อีกต่อไป

By : Parichart J.