Sun. Sep 8th, 2024

คำว่า ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย อาจไม่ตลกอีกต่อไป หากลูกหนี้ถูกแจ้งอายัดบัญชีโดยตำรวจ เราอาจเคยได้ยินการถูกอายัดบัญชีเงินฝาก จากการถูกโกงออนไลน์อยู่บ่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เจ้าทุกข์จะไปแจ้งความ เพื่อให้ตำรวจอายัดบัญชีคนโกงให้กับเรา ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว มิเช่นนั้นเราต้องเสียเงินไปฟรี ๆ อย่างแน่นอน

ในบทความนี้ เราจะแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ

  1. ยืมเงินกันเองโดยไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน
  2. เป็นหนี้บัตรเครดิต/บัตรกดเงินสด แล้วไม่สามารถจ่ายชำระได้

ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้จะมาเกี่ยวข้องกับการอายัดเงินในบัญชีเงินฝากได้ยังไง ตามไปอ่านกันเลย

1.ยืมเงินกันเอง(โดยไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน)

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ แต่ไม่ใช่การกู้เงินนอกระบบ เป็นการกู้ยืมเงินระหว่างคนรู้จักกัน และมีกำหนดเวลาในการคืนเงินกันเป็นที่เรียบร้อย เมื่อครบกำหนดการคืนเงิน ลูกหนี้กลับบ่ายเบี่ยงไม่ยอมชำระหนี้ตามตกลง หลังจากเจ้าหนี้ติดตามทวงถามจนหมดความอดทน ก็นำเอกสารการกู้ยืมเงินต่าง ๆ เข้าแจ้งความกับตำรวจ เพื่อให้ช่วยอายัดเงินในบัญชีของลูกหนี้

จะด้วยความบังเอิญหรือยังไงก็ไม่ทราบได้ บัญชีของลูกหนี้ที่ถูกอายัด เป็นบัญชีเดียวกันกับที่เงินเดือนเข้า จึงทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถนำเงินออกมาใช้ได้ จึงต้องรีบหาเงินมาจ่ายชำระเจ้าหนี้ทันที ซึ่งจริง ๆ เรื่องราวก็ควรจบลงด้วยดี แต่ลูกหนี้ก็ถูกเจ้าหนี้ดัดนิสัยเล็กน้อย ด้วยการอ้างธุระต่าง ๆ นา ๆ ในการไปถอนแจ้งอายัดบัญชีที่สถานีตำรวจช้ากวาที่ได้รับปากเอาไว้

เรื่องราวในครั้งนี้ จึงเป็นอุทาหรณ์และกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ว่าเจ้าหนี้เองก็มีกลยุทธ์ในการติดตามหนี้ที่หลากหลายอยู่ไม่น้อย การแจ้งอายัดบัญชี ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้เจ้าหนี้ได้เงินคืนเช่นกัน และวิธีนี้ไม่ต้องพึ่งทนายและศาลเลย แถมยังได้เงินคืนเต็มจำนวน ในเวลาอันรวดเร็วอีกด้วย

2.เป็นหนี้บัตรเครดิต/บัตรกดเงินสด แล้วไม่สามารถจ่ายชำระได้

ความเกี่ยวข้องของการถูกอายัดบัญชี ในส่วนของการเป็นหนี้บัตรเครดิต/บัตรกดเงินสด ตามขั้นตอนแล้ว เจ้าหนี้จากสถาบันการเงินต่าง ๆ จะไม่สามารถทำได้ เพราะต้องดำเนินการติดตามทวงถามหนี้ และบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ เอาไว้ จนกระทั่งนำเรื่องฟ้องศาล อายัดเงินเดือน (บางส่วน) และยึดทรัพย์ขายทอดตลาด

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ ด้วยเหตุการณ์ใกล้เคียงกันก็คือ ถูกเจ้าหนี้จากธนาคารดูดเงินออกไปใช้หนี้ทันทีที่มีเงินเข้า ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่มีความผิดใด ๆ เพราะในสัญญากู้ยืมเงิน ได้บอกเอาไว้ทั้งหมดแล้ว ว่าเจ้าหนี้สามารถทำได้อย่างถูกต้อง หากลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระเกินระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้

ลูกหนี้หลายคนประมาท คิดว่าจะรอให้ฟ้องอย่างเดียว เพื่อเป็นการยื้อเวลาออกไปก่อน โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องดังกล่าวนี้เลย ดังนั้นวิธีแก้ก็คือ

  • ไม่เป็นหนี้กับธนาคารที่มีเงินเข้าออกเป็นประจำ
  • ไม่นำเงินเข้าในบัญชีธนาคารที่เราเป็นหนี้
  • หากเป็นบัญชีเงินเดือน ให้ปรึกษาฝ่ายบุคคลเพื่อขอรับเป็นเงินสด

ทั้ง 2 ข้อที่กล่าวมานี้ ทั้งฝั่งลูกหนี้และเจ้าหนี้ ต่างก็ต้องมียุทธวิธีเป็นของตนเอง อย่างไรก็ตามเป็นหนี้ก็ควรจ่ายชำระ แม้จะไม่ได้จ่ายตามกำหนดก็ตาม เคราะห์หามยามร้ายขึ้นมา อาจสูญเสียทรัพย์สินมากกว่าจำนวนหนี้ ก็อาจเป็นได้