“เครดิตบูโร“ ไม่มีใครหรอกที่จะอยากจะมีประวัติเสียตรงนั้น แต่หากเราจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสด ไม่ไหวจริง ๆ การจ่ายบ้าง ไม่จ่ายบ้าง ก็ไม่ใช่คำตอบเช่นเดียวกัน เพราะจะทำให้เสียเปรียบเจ้าหนี้ในหลาย ๆ อย่าง จะมีอะไรบ้างต้องอ่าน 3 ข้อต่อไปนี้
1.เงินที่จ่ายหักเงินต้นเพียงเล็กน้อย :
อารมณ์ของการจ่ายหนี้บัตร ที่จ่ายบ้างไม่จ่ายบ้าง ไม่ใช่เรื่องที่ดี เหมือนกับว่าเราขาดการวางแผนอย่างมาก (จะหยุดจ่ายก็ต้องวางแผนนะ) ประมาณว่ามีก็จ่าย ไม่มีก็ไม่จ่าย บอกเลยว่ามีแต่ผลเสีย … แต่ๆๆ คนที่บอกว่าดี ก็เห็นจะมีแต่เจ้าหนี้นั่นล่ะ เช่น พอจะมีสัก 1,000 บาท ไหมคะ รักษาเครดิตไว้ ไม่อยากให้ลูกค้าติดเครดิตบูโร หรือทางเจ้าหนี้จะไม่ฟ้อง เป็นต้น
แต่เราเคยสังเกตกันไหมว่า ยอดเงินน้อยนิดที่จ่ายเข้าไป ด่านแรกเลย เราจะถูกหักค่าโน่น ค่านี่ก่อน อาทิ เบี้ยปรับ ค่าติดตามทวงถาม ดอกเบี้ยคงค้าง เหลือนิดหน่อยก็จะเอาไปหักเงินต้นให้เรา สรุป 1,000 บาท เหลือหักเงินต้น 200 บาท เอาเป็นว่าหนี้แทบจะไม่ได้ลดลงเลยด้วยซ้ำไป (เอาเปรียบลูกหนี้เห็น ๆ )
2.ส่งผลเสียต่ออายุความ :
นี่แหละ!! ที่เราควรต้องวางแผน หรือควรมีความรู้ในเรื่องนี้เอาไว้บ้าง ไม่ใช่วางแผนใช้เงินอย่างเดียว ย้ำกันตรงนี้!! หนี้บัตรเครดิต อายุความ 2 ปี / หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด อายุความ 5 ปี ดังนั้นหากพบว่า เราเดินมาถึงทางตัน ไม่สามารถจ่ายหนี้บัตรได้ตามปกติอีกต่อไป ก็ให้หยุดจ่าย โดยต้องวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนเผื่อเอาไว้
การนับอายุความเริ่มตั้งแต่วันที่ผิดนัดชำระ จนถึงวันที่ฟ้อง ดังนั้นอย่าได้เผลอจ่ายเข้าไปเด็ดขาด ส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราพลาด ก็คือเจ้าหนี้จะสร้างเงื่อนไขดี ๆ มาให้ จนอาจทำให้เรายอมจ่าย
เชื่อหรือไม่ว่า? หลักร้อยเค้าก็เอานะ เพราะเป็นการต่ออายุหนี้บัตรได้ทันที เจ้าหนี้ก็มีเวลาทำเรื่องฟ้องเราได้ การฟ้องหนี้ที่ยังไม่หมดอายุความ จะทำให้เรายุ่งยาก ส่งผลต่อการถูกสืบทรัพย์บังคับคดีในอนาคตได้ด้วย เพราะหากหมดอายุความไปแล้ว ศาลจะยกฟ้อง ลูกหนี้ก็ไม่ต้องจ่ายหนี้เลยสักบาทเดียว
3.เจ้าหนี้ยึดเอาการทยอยจ่ายเป็นข้อต่อสู้ในศาล :
มาถึงการถูกฟ้องศาลโดยอายุความยังไม่หมดกันบ้าง โดยเราอาจยกเรื่องการถูกเอาเปรียบในเรื่องดอกเบี้ยมาเป็นข้อต่อสู้ แต่ก่อนหน้านี้ เราก็ทยอยจ่ายเจ้าหนี้ไปเรื่อย ๆ ในรูปแบบของการมีก็จ่าย ไม่มีก็ไม่จ่าย สุดท้ายหนี้สินก็ไม่หมด จนถูกฟ้อง
แต่เชื่อหรือไม่? เราจะถูกย้อนศรด้วยประโยคเจ็บ ๆ กลับมาว่า เจ้าหนี้ปฏิบัติต่อลูกหนี้ในทำนองเดียวกันนี้ทุกราย รวมถึงจำเลย (ลูกหนี้) ด้วย ดังนั้นหากลูกหนี้รู้ว่าถูกเอาเปรียบ แล้วทำไมยังจ่ายเข้ามาอีก ทำไมลูกหนี้ไม่หยุดจ่ายตั้งแต่ต้น นั่นแสดงว่ายอมรับและรู้ในข้อเสนอที่เจ้าหนี้ให้เอาไว้อยู่แล้ว!! … ก็เอวังด้วยประการฉะนี้ …
ยัง!! ยังไม่จบแค่นั้น บางทีลูกหนี้ยังไปหลงคารมณ์เจ้าหนี้อีกด้วยว่า หากจ่ายเข้ามาเล็กน้อย จะไม่ฟ้อง แต่ที่รู้มา ไม่รอดสักราย เพราะเจ้าหนี้อาจจะรู้ว่าอายุความใกล้จะหมด ต้องหลอกให้จ่ายให้ได้ แล้วจัดการฟ้องทันที
ดังนั้น คำแนะนำสุดท้ายตรงนี้คือ หากตัดสินใจแล้วว่าจะหยุด ก็หยุดไปเลย แต่ต้องเก็บเงินก้อนเอาไว้บ้าง แล้วรอให้ทางเจ้าหนี้ติดต่อมาเพื่อทำ hair cut หนี้ กัน ส่วนจะได้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องเจรจาต่อรองกันอีกที
ดังนั้นเราจะเห็นอย่างชัดเจนว่า ข้อเสียในการทยอยจ่ายบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดมีมากกว่าข้อดี เพราะถึงยังไงก็ยังไม่สามารถปิดหนี้ได้ พอถึงเวลาหากตกลงกันไม่ได้ เจ้าหนี้เค้าก็ฟ้องเราได้อยู่ดี ส่วนคนที่รอดจากการฟ้อง ก็มีอยู่หลายสาเหตุ แต่เราก็อย่าไปหวังลม ๆ แล้ง ๆ เพราะเราอาจไม่ใช่ผู้โชคดีคนนั้นก็ได้