Sun. Sep 8th, 2024

เครดิตบูโร

เวลาที่เราขอยื่นกู้ขอสินเชื่อ ธนาคารก็จะขอเช็คเครดิตบูโรของเรา ถ้าไม่ติดปัญหาว่าเราเคยค้างจ่ายหลายเดือน ก็สบายไป ผ่านฉลุยแน่นอน แต่ถ้าได้ยินประโยคนี้ “ไม่อนุมัติสินเชื่อ เพราะติดแบล็กลิสต์จากเครดิตบูโร” เป็นอันว่าไม่ได้เป็นหนี้แน่นอน (จะดีใจหรือเสียใจดีนะ)

มาทำความเข้าใจกันก่อน เครดิตบูโรไม่ได้เป็นผู้จัดแบล็กลิสต์ หรือบัญชีดำของลูกหนี้แต่อย่างใด เพียงแต่ทำหน้าที่ในการรวบรวมประวัติการขอสินเชื่อ และการชำระหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือเงินกู้อื่น ๆ ของลูกหนี้ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ในกรณีที่ลูกหนี้จ่ายตรงเวลา ไม่เคยช้า ไม่เคยต้องให้ทวงหนี้ เรียกง่าย ๆ ว่า “ประวัติการชำระเงินดี”  ธนาคารก็ยิ่งมีความเชื่อมั่นในลูกหนี้มากขึ้น แต่เดี๋ยวก่อน!! ไม่ได้หมายความว่าจะอนุมัติให้ทันทีทันควันนะ

สิ่งที่ธนาคารจะพิจารณาต่อไปก็คือ รายได้หลักของผู้กู้  หลัก ๆ ก็คือเงินเดือนมากน้อยแค่ไหน หากมีรายได้เสริม ก็จะดูว่ามีหลักฐานการเดินบัญชีประกอบหรือไม่ ในกรณีต้องใช้หลักประกันก็ต้องเช็คด้วย หากมีเงื่อนไขต้องมี/ต้องเพิ่มผู้ค้ำประกัน ก็ต้องเช็คกันต่อไปเป็นเรื่อง ๆ จนครบ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าเครดิตบูโร เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญแต่ไม่ใช่ทั้งหมด

แบล็กลิสต์หรือบัญชีดำ

ทีนี้มาดูเรื่อง “แบล็กลิสต์หรือบัญชีดำ” กันต่อ ส่วนนี้เป็นเรื่องของธนาคารโดยตรง หากเราเคยกู้เงินแล้วไม่จ่าย จ่ายช้า ต้องให้ทวงหนี้เป็นประจำทุกเดือน ตรงนี้แหละที่จะทำให้ธนาคารต้องอันเชิญชื่อของเรา ไปไว้ที่บัญชีดำ หรือเรียกติดปากกันว่า “ติดแบล็กลิสต์” ซึ่งทุกธนาคารจะเห็นส่วนนี้ด้วย ไม่เฉพาะที่ใดที่หนึ่งที่เห็น

แล้วถามว่าเห็นมาจากไหน ก็เห็นจากข้อมูลของเครดิตบูโรนั่นแหละ แต่หากเราจ่ายชำระหมดแล้ว ส่วนของแบล็กลิสต์จะหายไป แต่ว่าประวัติการจ่ายไม่ตรงเวลาจะยังคงอยู่ในข้อมูลของเครดิตบูโรต่อไปอีก 3 ปี ข้อมูลส่วนนี้จะหายไปก็ต่อเมื่อหลังจากพ้น 3 ปีไปแล้ว

ทั้งหมดนี้คือการเชื่อมโยงกันตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ซึ่งหากเราจ่ายหนี้ตรงเวลา ก็ไม่ต้องกังวลอะไรเลย คำแนะนำพื้นฐานก็คือ ให้พยายามจ่ายให้ตรงเวลา อย่าให้เครดิตตัวเองเสีย หากมันเสียแล้ว ต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี ที่จะกลับมาปกติได้ หากต้องการเงินสักก้อนเพื่อการลงทุน ก็จะเสียโอกาสไปเปล่าๆ

 เงินกู้ในระบบ VS เงินกู้นอกระบบ

ทีนี้พอเสียโอกาสกู้เงินจากธนาคารไปแล้ว แต่จำเป็นต้องใช้เงินก้อน ก็อาจมีใจไขว้เขวไปหาเงินกู้นอกระบบมาใช้ ซึ่งทุกคนรู้กันหมด ว่าคือความเสี่ยง เสี่ยงเจ็บตัว เสี่ยงเสียทรัพย์ และเสี่ยงกับดอกเบี้ยเงินกู้ที่แพงแสนแพงอีก งั้นเราจะเขียนเปรียบเทียบให้ดูกันเลย

เงินกู้ในระบบ :

  • มีการทำสัญญากู้ยืมเงินถูกต้อง
  • ดอกเบี้ยเงินกู้จะไม่เกินที่กฎหมายกำหนดเอาไว้
  • เลือกสถาบันการเงินได้ 2 รูปแบบ คือ ธนาคาร และ Non-Bank เช่น First Choice , Aeon เป็นต้น
  • กรณีค้างชำระ จะมีการทวงถามเป็นขั้นตอน ตามระบบระเบียบ สามารถเจรจาต่อรองขอลดหนี้ได้ ที่เรียกกันว่าทำ Hair Cut หนี้

เงินกู้นอกระบบ

  • หนังสือสัญญามักแฝงความเอาเปรียบลูกหนี้
  • ดอกเบี้ยเงินกู้สูงเกินกฎหมายกำหนด (ผิดกฎหมาย)
  • กู้เงินง่าย เพราะจะเห็นป้ายเล็ก ๆ ตามเสาไฟฟ้าชุมชน หรือการบอกต่อ ๆ กันมา
  • ได้เงินอย่างเร็ว (ปานสายฟ้าฟาด)
  • กรณีค้างชำระ อาจมีการทวงหนี้แบบฮาร์ดคอร์ แบบจัดหนักลูกหนี้ หรือบังคับให้เซ็นเอกสารยึดทรัพย์ไปเลยก็มี

เอาเป็นว่าถ้ายังมีโอกาสเลือกได้ ก็ให้เลือกเงินกู้ในระบบจะดีที่สุด ไม่เสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของเรามากเกินไป แต่ที่เป็นปัญหากันอยู่ทุกวันนี้ ก็คือใช้เงินเกินตัวไปแล้ว เงินกู้ในระบบก็ไม่อนุมัติ จึงทำให้พวกเราบางส่วน ต้องเลือกหนทางที่เสี่ยงอย่างเงินกู้นอกระบบกันต่อไป

ข้อดีของการเป็นหนี้(ให้เป็น)

เขียนแล้วก็อยากเสริมให้อีกนิด สำหรับผู้ที่กลัวการเป็นหนี้ จนไม่ยอมขยับตัวลงทุนกับอะไรเลย คิดแบบนี้ก็เสียโอกาสเหมือนกัน มาดูกันว่าข้อดีของการเป็นหนี้มีอะไรบ้าง ยกตัวอย่าง 3 เรื่องละกัน

1.เป็นเจ้าของทรัพย์สิน

เอาง่าย ๆ เรื่องบ้าน ช่วงแรกเราอาจต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับธนาคารในจำนวนที่มากนิดหนึ่ง เพราะเงินที่กู้มามียอดสูง แต่พอเราส่งไปเรื่อย ๆ บวกกับทุกสิ้นปีก็มีเงินก้อนไปโป๊ะ ทำให้เงินต้นของเราลดลงเร็วกว่าที่คิด แถมหนี้บ้านก็หมดเร็วอีกด้วย บ้านและที่ดิน เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงขึ้น (ไม่เหมือนรถยนต์ที่มีแต่ลด) ส่วนนี้ทำให้เรามีทรัพย์สินเป็นของตัวเองได้ แนวคิดนี้รวมไปถึงทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เรายอมสร้างหนี้ขึ้นมาก เพื่อที่จะมีสมบัติเป็นของตัวเอง

2.สร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับตัวเอง

ถ้าเรามองเห็นโอกาสในการศึกษา และเชื่อว่าจะทำให้เรามีอาชีพ มีชีวิตที่มั่นคงได้ในอนาคต เรากู้เงินมาเพื่อไปเรียนต่อปริญญาโท – ปริญญาเอก โดยมั่นใจว่า เรามีความสามารถในการชำระหนี้คืนจนครบอย่างแน่นอน ดังนั้นการตัดสินใจเป็นหนี้ในครั้งนี้ จึงเสมือนเป็นการสร้างอนาคตให้กับชีวิตเราได้

3.นำไปหารายได้เสริมจนถึงรายได้หลักได้

พูดกันเรื่องการกู้เงินมาซื้อรถยนต์ แค่ถอยออกมาจากโชว์รูมแค่นั้นแหละ “รถ” กลายเป็น “ลด” ทันที ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายรายวัน รายเดือน รายปี อยู่ตลอด แต่เอาใหม่ คิดใหม่แบบนี้ดีกว่า หากการเป็นหนี้รถยนต์ 1 คัน ทำให้เราประหยัดค่าเดินทาง ประหยัดการเช่าหอพัก ได้อยู่บ้านกับครอบครัว ทำให้ประหยัดค่าข้าวได้ด้วย ได้ความอบอุ่นในครอบครัวด้วย ยิ่งไปกว่านั้น วันหยุดหรือเวลาว่าง เราก็ยังเอารถยนต์ไปรับจ้างหารายได้เสริมหรือค้าขายหาเงินได้อีก แบบนี้จาก “ลด” กลายเป็น “เพิ่ม” ได้เลย

ดังนั้น ปัญหาของการเป็นหนี้ทั้งหลายทั้งปวง ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเลือกเป็นลูกหนี้ที่จ่ายตรงเวลา เพื่อรักษาเครดิตที่ดีเอาไว้หรือไม่  กู้เงินในระบบให้ถูกต้อง ถ้ามีปัญหาก็เข้ากระบวนการตามกฎหมาย เลือกเป็นหนี้ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเรา หากทุนรอนเราน้อย แต่การวางแผนชีวิตเราดี ยังไงคุณภาพชีวิตเราก็ดีอย่างแน่นอน

By : Parichart J.